กองต่างประเทศ กองทุนทองคำ/น้ำมัน สงสัย NAV เข้าซื้อวันนี้ได้ราคาวันไหน ?
จังหวะเข้าซื้อยังไงคะ ไม่เก็ท..ไม่อิน 

อธิบายให้ฟังหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ


คำตอบ

ขอตอบในประเด็นราคา NAV ที่จะได้รับเป็นต้นทุนก่อนนะครับ
และคำตอบนี้ใช้ได้กับกองส่วนใหญ่ ยกเว้นบางกองที่อาจจะมีข้อกำหนดพิเศษ
ซึ่งจำเป็นต้องสอบถามกับ บลจ. เป็นกองๆ ไป

ราคา NAV ที่จะได้รับของกอง FIF 
จะขึ้นอยู่ที่ Master Fund หรือ กองทุนหลัก จดทะเบียนทำการซื้อขายอยู่ ณ ประเทศใด ?


1. กรณีเป็นตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และ ฮ่องกงซึ่งอยู่ใน Timezone ใกล้เคียงกับประเทศไทย

การซื้อกองทุน = วันนี้ (T)
บลจ. ในไทยจะได้รับเงินเรา = วันนี้ (T)
และมักดำเนินการเอาเงินเรา
ไปซื้อ Master Fund ทันที = วันนี้ (T)
(เพราะตลาดหลักทรัพย์ปลายทาง ยังไม่ปิด)

จากนั้นตกเย็นประมาณ 19.00 ก็จะมีการคำนวณ NAV
และประกาศในเว็บไซต์ของ บลจ. = วันนี้ (T)
เห็น NAV ในหนังสือพิมพ์ = วันทำการถัดไป (T+1)
และปรับสมุดกองทุนได้ = วันทำการถัดไป (T+1)

โดยสรุป เราจะรู้ NAV ช้า แต่ต้นทุนจริงที่เราซื้อ ได้เกิดตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่เราซื้อแล้วครับ

กองทุน FIF ประเภทนี้ มักเป็นกองทุนทองคำ และกองทุนหุ้นจีน


2. กรณีเป็นตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ใน Timezone ที่เวลาช้ากว่าประเทศไทย

การซื้อกองทุน = วันนี้ (T)
บลจ. ในไทยจะได้รับเงินเรา = วันนี้ (T)
และมักดำเนินการเอาเงินเรา
ไปซื้อ Master Fund ทันที
ในวันเดียวกัน แต่ต้องรอตลาดสหรัฐฯ เปิดก่อน
และส่วนมากมักซื้อในราคาปิด
เราจึงจะได้ราคาของ Master Fund
= ประมาณตี 4 ของวันทำการถัดจากที่เราซื้อ (T+1)

แต่เราจะยังไม่รู้ NAV ที่เราได้อยู่ดี เพราะเวลานั้นพนักงาน บลจ. ยังคงนอนหลับอยู่

จะรู้ก็ตกเย็นของวันรุ่งขึ้น ประมาณ 19.00 ก็จะมีการคำนวณ NAV
และประกาศในเว็บไซต์ของ บลจ. = วันทำการถัดไป (T+1)
เห็น NAV ในหนังสือพิมพ์ = ในอีก 2 วันทำการถัดไป (T+2)
และปรับสมุดกองทุนได้ = ในอีก 2 วันทำการถัดไป (T+2)

โดยสรุป เราจะรู้ NAV ช้ากว่ากองในข้อ 1 เพราะ Timezone ห่างออกไปมากกว่า
และต้นทุนที่ได้ ก็ไม่ได้เกิด ณ เย็นวันที่เราซื้อ แต่เกิดประมาณช่วงเช้ามืด
ของวันทำการถัดจากที่เราซื้อ

กองทุน FIF ประเภทนี้ มักเป็นกองทุนทองคำ (ที่ซื้อ SPDR ในสหรัฐฯ) และกองทุนน้ำมัน


3. กรณีเป็นตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ให้ดู Timezone เป็นหลัก ว่าเวลาเค้าใกล้เคียงหรือช้ากว่าเรา

คอนเซ็ปจะคล้ายๆ เดิมคือ บลจ. รับเงิน และจะนำเงินที่รับ
ไปซื้อ Master Fund ในวันทำการที่ใกล้ที่สุด
ที่ตลาดหลักทรัพย์ที่ Master Fund จดทะเบียนซื้อขายเปิดทำการ
และมักซื้อที่ราคาปิดตลาดของแต่ละวัน

บลจ. จำเป็นต้องได้ราคาปิดมาก่อน
เพื่อมาคำนวณ NAV และประกาศให้นักลงทุนทราบต่อไป ทำให้เรารู้ช้า

รายละเอียดแบบเจาะจงเป็นกองๆ ไป ต้องสอบถามกับ บลจ. เป็นกองๆ เลยครับ
ผมตอบให้กรณีทั่วๆ ไป ซึ่งอาจไม่สามารถ Apply ได้กับทุกกองนะครับ

และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเช่น กรณีมีวันหยุดในต่างประเทศ หรือมีวันหยุดในไทย


ส่วนคำถามที่ว่าจะซื้อจังหวะไหน ถ้าตอบแบบกวนๆ คือ

“ซื้อจังหวะที่มันกำลังจะขึ้น”

ซึ่งก็มีวิเคราะห์หลากหลาย ซึ่งผมไม่เชี่ยวชาญซักวิธีครับ
ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการเก็งกำไร จับจังหวะ ก็มักใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค
เช่น การดูแนวโน้มราคา (Price Pattern) การดูตัวชี้วัดต่างๆ (Indicator)

ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องนี้ ต้องหาเรียนที่อื่น อาจเริ่มต้นเรียนฟรีที่นี่ครับ
http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=1706&Itemid=1507

ดูหลักสูตร IS107 และ IS108 ครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here