การลงทุนในหุ้นนั้น ทำได้หลากหลายวิธี
ต่างก็มีวิธีการตัดสินใจที่ต่างกัน และเหมาะกับเครื่องมือการลงทุนที่ต่างกันด้วย

เราเห็นภาพใหญ่ของแต่ละวิธีการ และได้เลือกให้เหมาะกับตัวเองแล้วหรือยัง ?

สารพัดวิธีการลงทุนในหุ้น... เลือกให้เหมาะกับตัวเอง!


ใน Infographic นี้ ผมพยายาม Simplify หรือสรุปวิธีการลงทุนในหุ้นวิธีต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย
โดยใช้ปัจจัยสำคัญ 3 ประการได้แก่

1. การคาดหวังผลตอบแทน (Alpha) ในที่นี้คือผลตอบแทนเปรียบเทียบกับตลาด (คลิ๊กอ่าน วิธีวัดผลตอบแทน)

2. ความถี่ในการซื้อ-ขาย (Trading Frequency) ว่าเรามีการซื้อ-ขายบ่อยเพียงไร

3. ระดับทักษะที่ต้องใช้ (Skill & Effort) ว่าต้องใช้มากน้อยขนาดไหน

เมื่อแบ่งวิธีการลงทุนในหุ้นออกด้วย 3 ปัจจัยนี้ จะพบว่าสามารถแบ่งการลงทุนในหุ้นได้ออกเป็น 4 วิธีการใหญ่ๆ ได้แก่


1. Passive Investing (ฺBeta Tracker)

Passive Investing (Beta Tracker)

วิธีการลงทุนนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่สุดที่ผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นสามารถจะนำไปใช้ได้
คือเป็นวิธีที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนอะไรที่มากมายเกินไปกว่าการสร้างผลตอบแทนได้ตามตลาดหุ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 10-12% การลงทุนวิธีนี้ก็ควรจะได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน

ซึ่งภาษาวิชาการนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนแบบ Beta เป็นหลัก (Beta Tracker)เพราะ Beta นั้นเป็นค่าวัดความเสี่ยงเชิงเปรียบเทียบกับตลาด การลงทุนไหนที่มี Beta = 1 ก็คือมีความเสี่ยงเท่ากับตลาด ผลตอบแทนที่ได้ก็จะใกล้เคียงกับตลาดตามไปด้วย หรือพูดอีกแบบก็คือ “ขึ้นตามตลาด ลงตามตลาด

วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ใช้ทักษะในการลงทุนน้อยที่สุด
โดยคนทั่วๆ ไป สามารถใช้เครื่องมือลงทุนที่เรียกว่า “กองทุนดัชนี (Index Fund)“ในการสร้างผลตอบแทนเลียนแบบตลาด ซึ่งบ้านเราก็มีขายหลายกอง (ดูตัวอย่าง)

แต่แม้จะเป็นวิธีที่ “ง่ายๆ โง่ๆ” แบบนี้ ก็อาจให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)ทั้งนี้ก็เพราะการพยายามจะลงทุนให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด สำหรับคนจำนวนมากอาจทำได้ยากในระยะยาวเช่น ปีนี้อาจลงทุนชนะตลาด ปีหน้าอาจจะแพ้ พอสะสมผลตอบแทนไปเรื่อยๆ 10-20 ปี
อาจจะพบว่าความพยายามที่จะเอาชนะนั้น “ให้ผลน้อย” หรือถึงขั้น “สูญเปล่า” เพราะดันแพ้มากกว่าชนะ หลักฐานก็พอมีให้เห็นครับว่า กองทุนหุ้นที่พยายามชนะตลาด (Active Fund) นั้น ในระยะยาวแล้ว กว่า 3 ใน 4 กลายเป็นผู้แพ้

นั่นเป็นสาเหตุให้ หนังสือการเงินส่วนบุคคลพื้นฐานโดยเฉพาะหนังสือต่างประเทศ แนะนำให้ลงทุนด้วยวิธีนี้ซึ่งแม้แต่ Warren Buffet ปรมาจารย์ด้านการลงทุนของโลก ก็ยังเคยแนะนำคนทั่วไปว่า…


The best way in my view is to just buy a low-cost index fund
and keep buying it regularly over time,
because you’ll be buying into a wonderful industry, which in effect is all of American industry.
If you buy it over time, you won’t buy at the bottom, but you won’t buy it all at the top either


สังเกตนะครับ ว่านอกจาก Index Fund แล้ว Warren Buffet ยังแนะนำให้ลงทุนเป็นประจำด้วยโดยการลงทุนแบบนี้นั้น แม้เราอาจจะไม่ได้ซื้อ ณ จุดที่ต่ำสุด แต่ก็จะเลี่ยงการไปซื้อเอาที่ต้นทุนสูงๆ ได้ เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงแบบหนึ่ง ที่สอดคล้องกับหลักการลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Averaging

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีภาระงานมาก มีเวลาน้อยในการศึกษา หรือศึกษาแล้วก็ยังทำได้ไม่ดี ถ้านำวิธีการนี้ไปใช้ลงทุน ก็จะช่วยเลี่ยงภาวะ “เสี่ยง แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง” ได้เป็นอย่างดี เพราะยังมีนักลงทุนจำนวนมาก ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว อย่าว่าแต่ได้ผลตอบแทนใกล้ตลาดเลยครับ
บางที จังหวะตลาดหุ้นขึ้น พอร์ตกลับขาดทุนก็ยังมี

แต่ Remark ไว้หน่อยว่า วิธีการนี้ เป็นการลงทุนด้วยความเชื่อว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นในระยะยาว (ศึกษาเพิ่มที่นี่) จึงไม่เหมาะกับคนที่จะลงทุนสั้นๆ เพราะถ้าตลาดปรับลง Index Fund ก็ลงตามนะครับ ส่วนคำถามว่า ควรลงทุนยาวแค่ไหน ขอให้อ่านโพส ลงทุนหุ้นยาวแค่ไหน… ถึงจะพออุ่นใจได้ว่าไม่ขาดทุน ครับ


2. Passive Investing (ฺAlpha Hunter)

Passive Investing (Alpha Hunter)

ถ้าวิธีการแรกยังไม่ถูกใจ เพราะเราทุกคนมีจิตวิญญาณ “อยากเอาชนะ” อยู่ในตัว
เรื่องอะไรจะมาหวังเอาแค่ผลตอบแทนที่เท่ากับตลาด… ก็ต้องขยับมาเป็นวิธีที่ 2 นี้ครับ

ผมยังเรียกวิธีนี้ เป็นการลงทุนแบบ Passive Investing อยู่ คือยังไม่ต้องทุ่มเทเวลาและใช้ทักษะมากนัก และก็ยังต้องอาศัยการปรับขึ้นของตลาดหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญในการสร้างผลตอบแทน แต่แทนที่จะลงทุนตามตลาดเน้นหา Beta ก็จะมีการลงทุนในหุ้นที่ต่างไปจากตลาด เพื่อพยายามจะเอาชนะตลาดให้ได้
ซึ่งถ้าทำสำเร็จ เราจะได้ผลตอบแทนตามตลาด บวกกับผลตอบแทนส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเรียกว่า Alpha


แต่ถ้าทำพลาด Alpha ก็ติดลบได้นะครับ นั่นคือถ้าพลาดก็อาจจะแพ้ตลาดได้นั่นเอง

ทักษะที่นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องใช้ก็คือทักษะในการ “เลือก” หรือ “Selection Skill” ถ้าเอาแบบง่ายๆ คือถ้ายังไม่ลงทุนโดยตรงด้วยตัวเอง ก็จะต้อง “เลือกกองทุน” ประเภท Active Fundที่เราเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดได้ในอนาคตข้างหน้า มาลงทุน

ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ผมเชื่อว่ายังหากองทุนลักษณะนั้นได้อยู่บ้างจากบางค่าย (ลองดูตัวอย่าง)
แต่ต้องอย่าลืมว่า ส่วนใหญ่นั้น เรามักจะพิจารณาจาก “ผลตอบแทนในอดีต” เป็นหลัก ซึ่งอดีตอาจจะไม่ซ้ำร้อยก็ได้… ยังไงเสีย Alpha Hunter ก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้ตลาดอยู่ครับ

หรืออีก Step ที่สูงขึ้นไปก็การไป “เลือกหุ้นเองโดยตรง” ไม่ต้องลงทุนผ่าน Active Fund แต่เนื่องจากยังเป็นการลงทุนแบบ Passive Investing คือเราลงทุนเพื่อให้เงินทำงาน ไม่ได้มาซื้อๆ ขายๆการจัดพอร์ตจึงมักจะต้องกระจายลงทุนในหุ้นมากตัวหน่อย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเลือกหุ้นผิด

แต่หุ้นทุกตัวที่เลือก ก็พยายามเลือกตัวที่ดีที่สุด โดยดูจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ หรืออาจมีการเลือกหุ้นที่มีลักษณะพิเศษๆ เช่น หุ้นปันผล (Dividend) หุ้นเติบโต (Growth) หุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ฯลฯ

วิธีการแนวนี้ น่าจะใกล้เคียงกับหลักการ “ออมหุ้น” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงมากอยู่ ณ ขณะนี้ คือเลือกให้ดี กระจายหลายตัว แล้วก็ทยอยจะสมไปเรื่อยๆ ในลักษณะของการลงทุนเป็นประจำ เช่น Dollar Cost Average

แต่ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า วิธีนี้อาจมี Alpha ติดลบได้ ดังนั้นเราต้อง “วัดผล” การลงทุนของเราอยู่เป็นระยะ หากพบว่า เราทำได้แย่กว่าตลาด ผมแนะนำว่าอาจจะต้องถอยไปใช้ Active Fund
แต่ถ้าถอยไปแล้ว ก็ยังเลือกกองทุนผิดอยู่ดี คงต้องขอให้ถอยกลับไปที่วิธีที่ 1 คือใช้ Index Fund จะดีกว่าครับ


3. Value Investing (การลงทุนแบบเน้นคุณค่า)

Value Investing (Fundamental)

ตั้งแต่วิธีนี้เป็นต้นไป จะเริ่มเป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยทักษะ อาศัยการคิดวิเคราะห์มากเป็นพิเศษ
และมักเป็นการลงทุนที่ต้องดูแลมากกว่า 2 วิธีแรก ผมจึงจัดว่าเป็นขั้นการลงทุนแบบ Active Investing แล้ว

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investing (เรียกสั้นๆ ว่า VI) เป็นวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา
โดยมี ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นผู้มีคุณูปการ นำหลักการนี้มาเผยแพร่ และได้สร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมอย่างมากมาย หลายคนสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

เป็นหลักการลงทุนที่อาศัยการเปรียบเทียบ “ราคาหุ้น” ซึ่งซื้อขายกันในตลาดกับ “มูลค่าที่แท้จริง” ของหุ้นนั้น
โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการ “ประเมินมูลค่าหุ้น” นั้นออกมา แล้วจึง “ลงทุนในหุ้นที่ราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

ด้วยความที่ต้องประเมินมูลค่าหุ้นในเชิงลึก ทำให้นักลงทุน VI ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจที่ลงทุนอย่างมาก
ต้องสามารถละสายตาจากราคาที่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้น แล้วมองเข้าไปในกิจการจริงๆ
ต้องศึกษาแนวโน้มต่างๆ ทางธุรกิจ Business Model ที่มาของรายได้ โครงสร้างต้นทุน ความสามารถของผู้บริหาร ฯลฯ
เพื่อที่จะ “คาดการณ์” อนาคตของบริษัทที่จะลงทุน จนสามารถประเมิน “มูลค่าที่แท้จริง” ของบริษัทนั้นได้ในที่สุด

นักลงทุน VI อาจมีการถือหุ้นที่ค่อนข้างหลายตัว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และ/หรือ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาบริษัท
แต่ส่วนใหญ่แล้วหุ้นที่เน้นลงทุนจริงๆ (Focus) ก็มักจะมีจำนวนไม่มากนัก เช่น 4-5 ตัว
หรือบางท่านอาจจะโฟกัสเพียง 1-2 ตัวเลยด้วยซ้ำ… ทั้งนี้ ก็เพราะนักลงทุน VI บางท่านเชื่อว่า

การศึกษาอย่างละเอียด มีความรู้จริงในบริษัทนั้นๆ ได้ช่วยลดความเสี่ยงไปแล้ว

จึงอาจไม่ต้องกระจายการลงทุนมากๆ ก็ได้

โดยทั่วไปการลงทุนวิธีนี้มักเป็นการลงทุนที่หวังผลระยะยาว เพราะแม้จะสามารถซื้อหุ้นที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว แต่ราคาหุ้นก็อาจยังไม่ปรับขึ้นในทันที หรือ ในระยะสั้นๆ (กรณีเลวร้ายอาจถึงขั้นปรับลงด้วยซ้ำ)
กว่าที่ราคาจะปรับขึ้น ก็เป็นช่วงที่ “คุณค่าที่แท้จริง” ของหุ้นนั้นเด่นชัดขึ้น จนคนอื่นๆ เริ่มมองเห็น แล้วเข้ามาลงทุน ณ ตอนนั้น นักลงทุน VI ผู้ที่เห็นคุณค่านั้นก่อน (และรอคอยอยู่) ก็จะเริ่มได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ

โดยส่วนตัวผมเองก็ใช้วิธีการนี้ในการลงทุนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ให้ผลดีมากๆ
อย่างไรก็ตาม บางคนที่ใช้วิธีเดียวกันมา ผลตอบแทนก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด คือมีกำไร แต่แพ้ตลาด หรือแพ้ Active Fund 

ดังนั้น ผมจึงเน้นเสมอว่าต้อง วัดผลการลงทุน ของตัวเองด้วย…

เมื่อพยายามแล้ว ไม่เกิดผลลัพธ์ บางทีการเลือกวิธีการที่แน่นอนกว่า ใช้แรงน้อยกว่า (เช่นวิธีที่ 1 และ 2) ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีได้ ระหว่างนั้น ก็แบ่งเงินส่วนน้อย มาศึกษาเพิ่มไป พร้อมเมื่อไร ค่อยกลับมาลงทุนวิธีนี้ก็ยังไม่สาย!


4. Trading (โดยใช้ปัจจัยทางเทคนิค)

Trading (Technical Analysis)

วิธีการลงทุนนี้นั้น มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อว่า “ข้อมูลการซื้อขายในอดีตมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำร้อยได้” การลงทุนด้วยวิธีนี้จึงมุ่งไปที่การศึกษาข้อมูล “ราคา” และ “ปริมาณการซื้อขาย” ที่เกิดขึ้น แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็มักจะแสดงผลอยู่ในรูปของ “กราฟ” ที่เราเห็นกันบ่อยๆ

วิธีการตัดสินใจก็มีตั้งแต่การดู รูปแบบของราคา (Price Pattern) เช่น อดีตเคยเกิด Pattern ของราคาหุ้นแบบนี้ แล้วหุ้นก็ตกตามมา ดังนั้น เมื่อเกิด Pattern แบบนี้ขึ้นอีก เราก็ควรจะขายหุ้นออก เพื่อลดความเสี่ยง

นอกจากการดู Price Pattern แล้ว วิธีการที่ใช้กันอย่างมากก็คือ การนำข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขายนั้น มาคำนวณเป็น ดัชนีชี้วัดค่าต่างๆ เรียกว่า Indicator เช่น ถ้านำค่าเฉลี่ยราคาย้อนหลังหลายๆ วัน มาเฉลี่ยกันก็สามารถคำนวณหาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ได้

จึงมีการคำนวณ Indicator ต่างๆ ออกมาอีกนับไม่ถ้วน อาทิ RSI, MACD, Bollinger, OBV, Parabolic SAR, ฯลฯ
ซึ่ง Indicator แต่ละแบบก็มีวิธีอ่านค่า วิธีตีความที่แตกต่างกันไป

ส่งผลให้ แม้จะเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน กราฟเดียวกัน นักลงทุนที่ลงทุนด้วยวิธีนี้อาจตีความหมายได้แตกต่างกัน
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ Indicator ที่เลือกใช้ และการปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ในแต่ละ Indicator ด้วย

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การลงทุนวิธีนี้ถูกใช้มากที่สุดในตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่เห็นผลค่อนข้างรวดเร็ว ผู้ที่ศึกษาจนเชี่ยวชาญแล้วประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จนั้น มักจะมีสถิติการซื้อขายที่ “ถูกมากกว่าผิด
แต่นั่นผมหมายถึงเฉพาะผู้ที่เชี่ยวชาญนะครับ!

เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่า คนมักคิดว่าวิธีนี้ง่าย แต่พอทำจริงกลับ “ผิดมากกว่าถูก“ทั้งจากการขาดทักษะการใช้เครื่องมือ การตีความที่ผิดพลาด ไปจนถึงปัญหาด้าน “วินัยการลงทุน“ที่เราไม่สามารถจะ Execute คำสั่งซื้อขายให้สอดคล้องกับสัญญาณซื้อ-ขาย ที่ Indicator ต่างๆ บ่งชี้ได้สมบูรณ์
เช่นเมื่อเกิดสัญญาณซื้อ เราอาจจะคิดว่าตอนนี้มีแต่ข่าวร้าย ทำให้ไม่กล้าซื้อ ในเวลาที่ต้องซื้อ ในทางกลับกัน เมื่อเกิดสัญญาณขาย เราอาจคิดว่า ตลาดยังดีอยู่เลย ขายไปจะเป็นการ “ขายหมู” รึเปล่า ก็เลยถือต่อ

นอกจากนั้นการลงทุนวิธีนี้อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเฝ้าหน้าจอเทรดได้ เช่นผู้ที่ทำงาน Full-time ทั้งนี้เนื่องจากการตัดสินใจ อาจต้องทำอย่างรวดเร็ว หรือต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

(ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนด้วยวิธีนี้ผ่านอาชีพ Proprietary Trader คลิ๊กที่นี่
ในตอนท้ายของวิดีโอมีแนะนำหนังสือดี ที่ผู้สนใจลงทุนแนวทางนี้ควรอ่านด้วยครับ)


สรุป

การลงทุนทั้ง 4 แนวทางข้างต้นนี้ เป็นแนวทางที่ผมแบ่งแบบง่ายๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ครอบคลุมวิธีการลงทุนทั้งหมด เช่น บางท่านมีการใช้การวิเคราะห์บริษัทด้วยปัจจัยพื้นฐานเพื่อเลือกหุ้นที่จะลงทุน แล้วจึงอาศัยการวิเคราะห์ทางเทคนิค
ในการจังหวะในการซื้อ-ขาย เป็นต้น

แต่วัตถุประสงค์สำคัญของบทความนี้ก็คือ ให้ทุกท่านได้รู้จัก “ภาพใหญ่ (Overview)” ของวิธีการลงทุนที่แตกต่างกัน เพื่อให้พอทราบในเบื้องต้น ว่าแต่ละวิธีนั้นมีการคาดหวังผลตอบแทนขนาดไหน มีวิธีการตัดสินใจลงทุนเบื้องต้นอย่างไรต้องใช้เวลาและทักษะขนาดไหน เพื่อที่ท่านจะได้สามารถ “เลือก” แนวทางการลงทุนในหุ้นได้เหมาะกับตัวท่าน

และผมคิดว่า อย่ามัวไปเสียเวลาถกเถียงว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีไหนเลยครับ
คนที่ลงทุนในทั้ง 4 วิธีนี้ หากตั้งใจศึกษาพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่เห็นการลงทุนเป็นเรื่อง “เล่นๆ“ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทุกวิธีการ แม้นิยามความสำเร็จอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น

คนที่ลงทุนแบบ Passive หวังเพียง Beta คือผลตอบแทนเท่าตลาด ก็ควรจะดีใจหากได้ผลตอบแทนเท่าตลาดจริงๆอย่าเอาไปเทียบกับคนที่ลงทุนแบบ Active เช่นแนว VI หรือ Technical ให้เสียใจเล่น เพราะเรี่ยวแรงที่ใส่เข้าไปก็ไม่เท่ากัน

ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่หวังรวย แบบง่ายๆ แบบไม่ต้องศึกษา แบบไม่ต้องทำอะไรต่างหากระยะยาวท่านมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในตลาดหุ้น… แต่ผลตอบแทนกลับไม่สูงตาม ค่อนข้างแน่นอน!


สำหรับ A-Academy นั้น ผมเองมีการกำหนด Positioning ไว้ค่อนข้างชัดเจน
ว่าตั้งใจจะเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับวิธีการลงทุนในหุ้นด้วยวิธีที่ 1 และ 2 เป็นหลัก
เนื่องจากวิธีอื่นๆ นั้น ก็มีเว็บไซต์ มีเพจ มีคนเก่งๆ มากมาย ที่ให้ความรู้ด้านนั้นอยู่แล้ว

ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ ผมก็กำลังพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” อยู่
โดยจะเป็นบทเรียนที่ค่อนข้างละเอียด (คาดว่าจะมีจำนวนตอนมากถึง 30 ตอน) เรียกว่าเรียนจบนี่เป็นเซียนกองทุนได้เลย
ถัดจากนั้นก็คงจะพัฒนาบทเรียนเกี่ยวกับการเลือกหุ้นดีๆ ด้วยตัวเองอย่าวง่ายๆ ต่อไป…

อาจจะช้าหน่อย แต่อยากให้รอติดตามนะครับ ^-^

1 COMMENT

  1. รอๆค่ะ การเลือกหุ้นดีๆอย่างง่าย ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

Comments are closed.