จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ทำให้ผมได้พบเจอกับลูกค้านักลงทุนทุกระดับ
ตั้งแต่ลูกค้าที่ลงทุนหลักพันบาท… ไปจนถึงลงทุนทีละหลายสิบล้านบาท
เป็นลูกค้ามนุษย์เงินเดือน ทำงานโรงงาน ทำงานในเมือง ไปจนถึงเถ้าแก่ ผู้ประกอบการ
ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีคล้ายๆ กันก็คือ

สัญชาตญาณการเอาชนะ
หรือ ความกระหายที่จะ Take Action เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ซึ่งในการลงทุนให้ชนะ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเลิศนั้น ก็มีเทคนิควิธีการมากมาย
ต่างกันไปตามความถนัด ความชอบ หรือกระทั่ง “ความศรัทธา” ของแต่ละคน
จะลงทุนแนวพื้นฐาน, VI, อ่านกราฟ, มอง Fund Flow, ดูดวง, หรือสูตรผีบอกอะไรก็ตาม

ผมเชื่อว่าทุกๆ วิธีการ มีคนที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ
ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จก็ต้องมีการศึกษา ฝึกฝน ทดลอง ผ่านประสบการณ์มาไม่ใช่น้อย
พูดได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะ “เสกเอา” แบบเร็วๆ ด่วนๆ

ท่านที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะอยู่ในสปอตไลท์ มีแสงส่องสว่าง อาจได้รับการสถาปนาเป็นถึงขั้น “เซียน
แต่ก็อย่าลืมว่า “ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จ” แม้จะพยายามใช้ “วิธีเดียวกัน

ถ้าโชคดีหน่อย สิ่งที่พวกเขาได้… อาจจะเป็น “ผลตอบแทนหลอกตา” ทำให้นึกว่าตนนั้นประสบความสำเร็จแล้ว
(หลอกตายังไง แนะนำให้อ่านบทความ “ลงทุนหุ้นได้กำไร อย่าเพิ่งคิดว่าแน่… ลองวัดผลดูก่อนดีมั๊ย“)

แต่สิ่งที่ผมเห็นนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก “ได้” กันชัวร์ๆ ก็คือ

ความเครียดจากการพยายามจะเอาชนะ

แต่ผลลัพธ์มันไม่ยอมชนะ… ซ้ำร้าย “บางช่วงตลาดหุ้นขึ้น เรายังขาดทุนได้หน้าตาเฉย


นั่นทำให้ผมนึกถึงแนวคิดการลงทุน ในหนังสือด้านการลงทุน “ระดับตำนาน” เล่มหนึ่ง
ที่มีชื่อว่า “Winning the Loser’s Game” แต่งโดย Charles Ellis ที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลก
และยังเป็นอดีตอาจารย์วิชาการลงทุนที่  Harvard และ Yale University

Charles Ellis แบ่งรูปแบบของ “การแข่งขัน” หรือ “เกมส์” ทั้งหลายทั้งปวง ออกเป็น 2 ประเภท คือ
Winner’s Game และ Loser’s Game

เป้าหมายของการแข่งขันทุกอย่างคือการชนะ แต่ “วิธีการ” ในการเอาชนะของเกมส์ทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกัน

Winner’s Game นั้น เสมือนเป็นเกมส์ของ “มืออาชีพ” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” การจะเอาชนะได้นั้น
เราต้องพยายาม Take Action เด็ดๆ เช่นถ้าเป็น เกมส์เทนนิส ก็ต้องเสิร์ฟเอส เพื่อทำแต้มเหนือคู่แข่งให้ได้

ส่วน Loser’s Game นั้น เป็นเกมส์ของ “มือละอ่อน” ที่ยังไม่มีฝีมือมากนัก ยังไม่ได้เป็นเทพกับเค้า
ซึ่งในเกมส์แบบนี้นั้น “ยิ่งพยายาม Take Action เด็ดๆ กลับยิ่งมีโอกาสแพ้สูง” นั่นเพราะทักษะเรายังน้อย
ถ้านำมาเปรียบกับเทนนิสอีกครั้ง ก็เหมือนเอานักเทนนิสมือสมัครเล่นมาตีแข่งกัน
ส่วนใหญ่แล้ว ใครที่ “ทำเก่ง” ก่อน เช่น พยายามจะเสิร์ฟเอส หรือตีลูกพิสดาร มักจะทำพลาดซะเอง
กลายเป็นว่า “การไม่ทำอะไรมาก เล่นแบบธรรมดาๆ แต่ไม่ทำเสีย” กลับเป็นวิธีการที่จะเอาชนะ Loser’s Game

ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ


การลงทุนเป็น Winner’s Game หรือ Loser’s Game ?


คำตอบนั้นก็อยู่ที่ “มุมมอง” ของนักลงทุนแต่ละคนครับ
คนที่ปัจจุบันลงทุนแบบ Active มีกลยุทธ์การลงทุนที่ดี มีผลลัพธ์ที่ วัดผล แล้วชนะตลาดได้สม่ำเสมอ
ก็ย่อมมองว่า การลงทุนนั้นเป็น Winner’s Game คือ ต้องเก่ง ถึงจะชนะ!

แต่สำหรับใครที่รู้ด้วยตัวเองว่าเป็นมือใหม่ หรือ ทดลอง “วัดผลการลงทุน” แล้ว พบว่ายังแพ้ตลาดอยู่
ผมอยากชวนให้มองว่าการลงทุนนั้นเป็น Loser’s Game ด้วยเหตุผล 3 ข้อต่อไปนี้…


1. ในระยะยาวนั้นมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่ มักมีการปรับเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
การจะเอาชนะเกมส์นี้ เราไม่ต้องไปทำอะไรกับมันมากมาย ก็สามารถจะเข้าเส้นชัยได้เหมือนกัน


จาก Infographic ข้างล่างนี้

ยอมแพ้... เพื่อชนะ ! (โดยไม่ต้องรบ)

ผมสมมติว่าในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2004 – 30 มิ.ย. 2014
เราได้ลงทุนในกองทุนรวม 3 กองทุน ได้แก่

1) TMB SET50 ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นที่มีการบริหารให้ได้ผลตอบแทนเลียนแบบดัชนี SET50 TRI
2) Aberdeen Growth ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นที่มีการบริหารแบบเชิงรุก (Active) เน้นเอาชนะตลาด
3) Bualuang Top-Ten หรือ “บัวหลวงทศพล” ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นที่บริหารแบบเชิงรุก (Active) เช่นกัน

ถ้าเราเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 100 บาท โดยไม่ลงทุนเพิ่มเลย
10 ปีผ่านไป เงินลงทุนของเราในทั้ง 3 กองทุนจะเติบโตขึ้นเป็น 335, 431 และ 527 บาทตามลำดับ

นั่นหมายความว่า 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเรามีเงินลงทุนเริ่มต้นเท่าใดก็ตาม
มันมีสิทธิ์ที่จะเติบโตขึ้น 3.35 เท่า, 4.31 เท่า และ 5.27 เท่าได้!

เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้น จะได้เท่ากับ 12.9%, 15.7% และ 18.1% ตามลำดับ

คำถามคือ…
พอร์ตจริงที่เราพยายามบริหาร ฟูกฟัก และ “มุ่งเอาชนะ” นั้น… โตขึ้นเท่านี้รึเปล่า ?

เพราะผลตอบแทนระดับนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดได้จากการ “ไม่ต้องทำอะไรเลย
หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นี่เป็นวิธีการเอาชนะเกมส์การลงทุน
ตามแบบฉบับของคนที่เชื่อว่าการลงทุนเป็น Loser’s Game และยังเป็นเหตุผล
ที่ผมเขียนบนหัวของ Infographic ว่าเป็นการลงทุนแบบ “ทำน้อย… ได้เยอะ” ด้วย

เพราะใน 10 ปีนี้ ถ้าเรามีการซื้อๆ ขายๆ พยายามจะกะเก็งทิศทางของตลาด
ก็มีสิทธิ์สูงที่เราจะ “กลัวเกินเหตุ” ขายหุ้นทิ้งล้างพอร์ตตอนที่ตลาดตกหนักๆ เช่นปี 2008
แล้วไม่ได้กลับมาลงทุนตอนที่ตลาดขึ้นยาวมากๆ ตั้งแต่ปี 2009 – กลางปี 2013

ในทางกลับกัน เราอาจจะ “ทนรวยไม่ไหว” ในช่วงที่ตลาดขึ้นแรงมากหลายๆ ช่วง จึงขายทำกำไรออกไปก่อน
ทำให้แทนที่จะได้กำไรเป็นเศรษฐีเงินแสนเงินล้าน ก็เลยเป็นได้แค่เศรษฐีเงินพันเงินหมื่น
แถมพอขายออกไปแล้ว หุ้นขึ้นต่อ… ก็ไม่กล้าซื้อกลับ จนเสียโอกาสการลงทุนไปมากมาย


2. ขนาด “มืออาชีพ” หรือ “เซียน” พยายามแล้ว ก็ยังแพ้มากกว่าชนะ
แล้วเราคนธรรมดา จะลอง “ทำเก่ง” อีกหรือ 


ข้อนี้ต่อเนื่องจากข้อแรกครับ… และเป็นเหตุผลที่ผมเลือก 3 กองทุนนี้มาเปรียบเทียบกัน

เพราะกองที่ 1 คือ TMB SET50 นั้น ควรจะเป็น “บรรทัดฐานขั้นต่ำ” ที่ท่านจะเอาผลตอบแทนมาเปรียบเทียบ
เนื่องจากกองทุนนี้ลงทุนเลียนแบบตลาดเป็นหลัก คือไม่ได้ใช้ฝีมือในการเลือกหุ้น หรือจับจังหวะลงทุนอะไร
ก็ยังทำให้เงินลงทุนโตขึ้น 3.35 เด้งได้

ส่วนอีก 2 กองนั้น ผมเลือกเพราะเป็นกองทุน “ดาวเด่น” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือให้ผลตอบแทนระดับต้นๆ ของประเทศ
ที่ผมเอามาให้ดู ก็เพื่อให้เห็นภาพว่า ถ้าเราเลือกได้ถูกก็อาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดมากๆ

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังมีกองทุนหุ้นอีกร่วมร้อยกอง จากอีกหลายๆ ค่าย ที่ผลตอบแทนแพ้ตลาดใน 10 ปีที่ผ่านมา

แล้วเราจะเลือกถูกมั๊ยเนี่ย ?

หรือสุดท้าย จะใช้กลยุทธ์ในการเอาชนะตามแบบ Loser’s Game ก็คือ “ลดการผิดพลาดให้มากที่สุด
นั่นคือ “ไม่ต้องเลือก” ก็ลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดนั่นล่ะ… ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีมากโขแล้ว


3. ไม่ว่าจะถูก หรือผิด เราก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการซื้อ-ขายอยู่ดี
เท่านี้ก็เหมือนโดน “ตัดแต้ม” อยู่ตลอดเวลา


การซื้อขายหุ้นเองนั้น เราก็ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น เช่น สมมติว่าต้องเสีย 0.15% ของมูลค่าที่ซื้อหรือขาย
ถ้าเราซื้อเข้าและขายออก 1 รอบ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 0.15% x 2 = 0.30% แล้ว

ปีนึงถ้าเราทำแบบนี้ซัก 5 รอบ ค่าใช้จ่ายก็จะเป็น 0.30% x 5 = 1.5%
ถ้าทำซัก 10 รอบ ค่าใช้จ่ายก็จะเป็น 0.30% x 10 = 3.0%
บางคนเล่นไป 20 รอบ ค่าใช้จ่ายก็จะสูงถึง 6.0% ของมูลค่าพอร์ต

โดนแบบนี้ ก็เหมือนเราถูก “ตัดแต้ม” ออกจากผลตอบแทนการลงทุนไปเรื่อยๆ
ซึ่งสำหรับหุ้นนั้น สถิติระยะยาวๆ ก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่แถวๆ 12% ต่อปีเท่านั้น
การที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มจากการเทรดอีก 1.5%, 3.0% หรือ 6.0% ก็ตาม มันก็จะกินผลตอบแทนไปมาก
และการจะสำเร็จได้ นอกจากจะต้องเทรดมีกำไรชนะตลาดแล้ว ยังต้องกู้คืนต้นทุนที่เสียไปกลับคืนมาให้ได้ด้วย

ซึ่งถ้าเป็นเซียน คงไม่มีปัญหา เพราะเทรดชนะมากกว่าแพ้…

แต่ถ้าเราไม่ใช่เซียนล่ะครับ ?

การหันกลับมา “ลดการผิดพลาดให้มากที่สุด” นั่นคือ “ก็ไม่ต้องเทรด
ตามแบบฉบับของ Loser’s Game อาจจะให้ผลดีกว่าก็ได้
เพราะต้องไม่ลืมว่า ผลลัพธ์จากใน Infographic ข้างบนนั้น เกิดจากการไม่ได้เทรดจับจังหวะตลาดเลยนะครับ!

แต่ยังไงเสีย ก็อย่าลืมเช็คระยะเวลาลงทุนนะครับ ในเคสที่ยกตัวอย่างนี้กินเวลาเป็น 10 ปี
เพราะจะ ลงทุนหุ้นให้หวังผลได้ก็ต้องเตรียมเวลาให้เค้าหน่อย
ถ้าจะลงทุนแค่ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี อันนี้อาจจะซวยได้เช่นกัน…

ถ้าคิดแบบ Loser’s Game ก็คือ เงินสั้น อย่าเอามาเสี่ยงกับหุ้นจะดีกว่านะครับ ^^


เขียนมายืดยาว… ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ (ขอเน้นๆ หน่อย)


1. บทความนี้ไม่ได้เขียนสำหรับ “เซียน” หรือมือโปรที่ลงทุนแบบ Active แล้วประสบความสำเร็จ
เพราะท่านคือคนส่วนน้อยที่ “แตกต่าง” แต่เขียนเพื่อนักลงทุนทั่วไป ที่อาจยังลงทุนแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

2. หากท่านพยายามเอาชนะมานาน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ดี ผมอยากชวนให้ “ยอมแพ้” แล้วมาคิดแบบ Loser’s Game
ท่านอาจจะ “ชนะได้โดยไม่ต้องรบ” ในที่นี่คือรบกับตลาด รบกับเจ้า รบกับเซียน รบกับฝรั่ง
หรือรบกับใครก็ตามที่ท่านมักจะคิดว่าเค้ากำลังต่อสู้กับท่าน… เพราะยอมแพ้เมื่อไหร่ เราก็จะเป็นเพื่อนได้กับทุกคน
เพราะทุกคนคือคนที่ขับเคลื่อนตลาด ทำให้ระยะยาวหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในที่สุด

3. แนวทางการลงทุนที่ง่ายที่สุด เริ่มจากวางแผนเรื่องระยะเวลาลงทุนให้ดี เพราะสำหรับหุ้นแล้ว ลงทุนยาวถึงจะหวังผลได้

4. กองทุนรวม เป็นเครื่องมือที่ง่าย ทำให้ท่านมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นอีกมากมาย ลองเปิดใจให้มันดูครับ

5. ถ้ายังเลือกกองทุนไม่เป็น (เร็วๆ นี้จะมีวิดีโอสอนที่นี่) การเลือกกองทุนเลียนแบบดัชนี (Index Fund) ก็เป็นทางเลือกที่ดี
Warren Buffet และ ดร.นิเวศน์ ปรมาจารย์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ทั้งสองท่านก็แนะนำครับ

6. สำหรับมนุษย์เงินเดือน… เรามีงานอื่นต้องทำ การคิดแบบ Loser’s Game จะทำให้เรามีอิสระทางใจมากขึ้น
ไม่ถูกตลาดหุ้นปั่นหัวให้เสียการเสียงาน หรือเครียดทิ้งสูญเปล่า เราจะได้ “ให้เงินทำงานให้เรา” อย่างแท้จริงครับ

7. ระหว่างที่ลงทุนแบบง่ายๆ โง่ๆ ตามแบบของ Loser’s Game ก็ค่อยๆ ศึกษาเพิ่ม สะสมประสบการณ์
ลองแบ่งเงินน้อยไปทดลองแล้ววัดผลดู วันหนึ่งถ้าพร้อม… จะเลื่อนชั้นเข้าไปแข่งใน Winner’s Game ก็ไม่มีใครว่าครับ

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here