เป็นแพทย์จบใหม่ครับ อายุ 24 ปี แต่เดิมไม่มีความรู้เรื่องการเงิน หรือ การลงทุนใดๆ เลย
รายรับไม่แน่นอน Range อยู่ที่ 50,000 ถึง 70,000 บาทต่อเดือนครับ ยังไม่มีภาระหนี้สินอะไร

สิ่งที่กำลังสงสัยและอยากถามเพิ่มเติม อยู่ในเรื่องของการปิดความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องประกันชีวิต
อยากถามว่าผมควรซื้อประกันชีวิตอยางไรครับ ระหว่าง

1. ราคาถูก คุ้มครองสูง แต่ลดหย่อนภาษีได้น้อย แล้วจึงค่อยเอาเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน

หรือ

2. ซื้อประกันชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษีเต็มที่ (ได้ลดหย่อนเพิ่มขึ้นแต่อาจเสียโอกาสในการนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน)

เพราะจากรายได้แล้ว ต้องจ่ายภาษีค่อนข้างสูง
แล้วก็นายหน้าประกันก็เสนอว่าควรใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ คือเบี้ย 100,000 บาท ต่อปี

ซึ่งผมคิดว่าเป็นเงินที่มากพอสมควรสำหรับคนจบใหม่ จึงคิดไม่ตกครับกับการเลือกทำประกัน

อาจเป็นคำถามที่ งงๆ หน่อยนะครับ จริงๆ สงสัยอีกมากแต่ยังเรียบเรียงไม่ค่อยถูก
อย่างที่บอกครับไม่เคยสนใจ หรือมีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลยครับ


คำตอบ

ผมขอตอบตาม “หลักการวางแผนการเงิน” แบบ “Needs Approach
ที่อิง “ความจำเป็น” ของแต่ละบุคคลในการตัดสินใจนะครับ

ก่อนอื่นต้องระบุให้ได้ครับว่าเราต้องการอะไรกันแน่ ระหว่าง

1) ความคุ้มครอง (โดยมีการประหยัดภาษีเป็นผลพลอยได้)

หรือ

2) ประหยัดภาษี (โดยใช้เครื่องมือที่ให้ความคุ้มครอง)

ซึ่งจากที่ผมอ่านคำถาม ผมเข้าใจว่าเป็นความต้องการแบบที่ 1 คือต้องการปิดความเสี่ยงเป็นหลัก

ก็ขอให้ลองศึกษาวิดีโอตอนนี้ครับ ว่าควรจะมีการเตรียมความคุ้มครองเท่าไร จึงจะเหมาะสม
ตามหลัก “ครอบคลุม + เพียงพอ + ยั่งยืน
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/03-life-insurance-principle/

เมื่อประเมินทุนประกันที่เหมาะสมได้แล้ว (รู้ Needs)
ก็ค่อยไปเลือกแบบประกัน ที่เน้นความคุ้มครอง (เช่นแบบ Term Life หรือ Whole Life)
ซึ่งเบี้ยอาจจะถึงหรือไม่ถึง 1 แสนก็ไม่เป็นไร เพราะเป้าประสงค์หลัก คือต้องการความคุ้มครอง
และคุณหมอ (ผู้ถาม) ก็กลัวจะจ่ายไม่ไหวอยู่แล้ว ซึ่งก็ถูกต้องตามหลัก “ความยั่งยืน” ที่พูดถึงในวิดีโอข้างต้น


เมื่อปิดความเสี่ยงได้แล้ว ค่อยมาคิดต่ออีก Step หนึ่งครับ
ว่ากระแสเงินสดที่ยังเหลืออยู่นั้น มีเท่าไร แล้วต้องการเอาไปทำอะไร ระหว่าง

1) ลงทุน (โดยมีการประหยัดภาษีเป็นผลพลอยได้)

หรือ

2) ประหยัดภาษี (โดยมีการออมและการลงทุนเป็นผลพลอยได้)

ถ้าเป็นกรณีที่ 1 ก็ควรศึกษาเรื่องวางแผนการลงทุน
http://www.a-academy.net/personal-finance/s06-investment-planning/

ว่าเรามีเป้าหมายการลงทุนอะไร และเป้าหมายนั้น ต้องใส่ Input คือเงินเท่าไหร่
และต้องได้ผลตอบแทนขนาดไหน (มีไฟล์ Excel ให้ลองวางแผน)

เสร็จแล้วก็ค่อยหาเครื่องมือ เช่นลงทุนผ่าน LTF และ/หรือ RMF ก่อน
เพื่อให้ได้ผลพลอยได้เป็นการประหยัดภาษีไปในตัว

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ 2 จะเห็นว่า มุ่งประหยัดภาษีเป็นหลัก เรื่องการลงทุนเป็นรองลงไป
ก็อาจเลือกเครื่องมือที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น LTF/RMF ก็ได้
อาจจะเป็นประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ ก็ยังไหว กรณีที่เราไม่อยากไปลงทุนเสี่ยงครับ


ทิ้งท้าย…

ยังไงก็อยากให้ยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง
คือ พอประมาณ + มีเหตุผล + มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้ขอบเขตของความรู้ คู่คุณธรรม ในการตัดสินใจทุกเรื่องครับ

พอประมาณ คือไม่ทำเกินตัว เช่นอยากลดภาษีระยะสั้น จนกลายเป็นภาระหนัก จ่ายไม่ไหวในอนาคต

มีเหตุผล คือ รู้ว่าทำไมจึงควรทำแค่นี้ และรู้ว่าเป้าหมายแบบนี้ ควรใช้เครื่องมือแบบไหน

มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า คิดเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ มองสถานการณ์แบบองค์รวม
ไม่ตัดสินใจแบบ “รู้ลึก โง่กว้าง”

มีความรู้ คือ หมั่นศึกษาเพิ่ม สอบถามผู้รู้ อ่านเพิ่ม เรียนเพิ่ม (ซึ่งเรียนที่นี่ได้นะครับ :P)

มีคุณธรรม คือ ทำตามกรอบที่กฎหมาย และศีลธรรมกำหนดไว้
ไม่เข้าไปยุ่งกับพื้นที่สีเทา เล่นตุกติก หรือพยายามจะหาช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here