ขอพักเรื่องลงทุนหนักๆ ย้อนกลับมาคุยเรื่อง “Root-Cause” หรือ “รากของสาเหตุ
ที่ทำให้เรามั่นคง และมั่งคั่งได้สักหน่อยนะครับ

เรื่องของการลงทุนนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ก็มีความไม่แน่นอนมาเกี่ยวด้วยมากมาย
โดยเฉพาะหากต้องการผลตอบแทนสูงๆ ผมก็ยังไม่เห็นซักวิธี ที่การันตีได้ว่า ทำแล้วจะถึงเท่านั้นเท่านี้
เพราะมันมี ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ หรือ Uncontrollable Factors เยอะเหลือเกิน

ผมอยากชวนทุกท่านลองมองย้อนกลับมา ดูแลปัจจัยที่เราควบคุมได้ (Controllable Factors)
นั่นคือ “การเก็บออมเงิน” ว่าเราทำได้ดีแล้วหรือยัง ?

เก็บออมอย่างอัตโนมัติ

จากรูปประกอบ ผมตั้งใจเลือกรูปคนเดิน “ขึ้นบันได” เพื่อเทียบเคียงการเก็บออมเงินของคนทั่วๆ ไป
ซึ่งเราจะไม่ได้ออมครั้งเดียว แต่จะต้องทำมันหลายๆ ครั้ง เป็น Series ตั้งแต่หนุ่มจนแก่เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างว่า เริ่มออมเงิน “ทุกเดือน” ตั้งแต่อายุ 30 ปี ออมจนถึง 60 ปี รวมเป็นระยะเวลา 30 ปี
เราจะต้องออมทั้งสิ้น 360 ครั้งด้วยกัน

เราจะออมวิธีไหนให้มันสำเร็จทั้ง 360 ครั้ง ?


ยุคแรก : อด (เพื่อ) ออม

สมการเงินออมยุคแรกคือ

รายได้ – รายจ่าย = เงินออม

คือหาได้เท่าไรก็พยายามใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้เพื่อเหลือไว้ออม
ทำให้ในยุคแรกนี้ เราเน้นการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายกันมาก

ปัญหาก็คือ เฉพาะคนที่ใจแข็ง และมีวินัยจริงๆ เท่านั้น
ที่ทำวิธีนี้สำเร็จ… เพราะเราสู้ใจและอารมณ์ตัวเองไม่ไหว

360 ครั้ง ก็จะสำเร็จเฉพาะครั้งที่ฮึดๆ สู้ไหวเท่านั้น
ปีหนึ่งๆ ก็อาจจะมีฤกษ์งามยามดีไม่กี่ครั้งเท่านั้น ที่ได้เก็บออม


ยุคสอง : จ่ายให้ตัวเองก่อน (Pay Yourself First)

สมการเงินออมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก คือ

รายได้ – เงินออม = รายจ่าย

คือหามาได้ ให้ออมก่อน แล้วค่อยใช้ส่วนที่เหลือ
ยุคนี้ความจำเป็นในการจดบันทึกก็จะน้อยลง เพราะใช้วิธีจ่ายให้เป้าหมายสำคัญใน “อนาคต” ก่อนเพื่อน

เงินส่วนที่เหลือ บางท่านถึงกับตั้ง KPI ไว้ว่า “ยังไงก็ต้องใช้ให้หมด
ก็เป็นความสนุกสนานในชีวิตอีกแบบ โดยเฉพาะในเดือนที่ มันแทบจะใช้ไม่พอ
มันก็ต้องใช้สติปัญญา ว่าทำยังไงถึงจะผ่านเดือนนั้นไปได้

แต่วิธีนี้ก็ยังมีปัญหา… คือเรายังต้องเป็น “ผู้ดำเนินการ” เองอยู่
ดังนั้น จึงอาจมี “ข้ออ้าง” ได้เป็นระยะๆ เช่น

“มือถือเราก็เก่าแล้วนะ ผ่อน 0% 10 เดือน มันนิดๆ ไม่เป็นไรหรอก”

“ทริปนี้เราจำเป็นต้องไป มีตั๋วลดราคา ถ้าไม่ไป จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว”

นั่นก็ยังทำให้เราควบคุม “การเก็บออม” ได้ไม่อยู่หมัดอยู่ดี!


ยุคสาม : จ่ายให้ตัวเองก่อนอย่างอัตโนมัติ

ยุคนี้เป็นความหวังใหม่ ของการเก็บออมอย่างมีวินัยสูงสุด
สมการการออมไม่ได้เปลี่ยนจากยุคที่สอง แต่ “วิธีดำเนินการ” เปลี่ยนไป
จากการทำเองมาสู่การมุ่งให้ “ระบบ” หรือ “เทคโนโลยี” ทำให้แทน

ตัวอย่างเช่น

ระบบ “ประกันสังคม / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /กบข.
ที่หักเงินเราไปออมทุกเดือน ตั้งแต่เงินยังมาไม่ถึงมือเรา
ทำให้ Success Rate ของการออม = 100% ทันที

(แม้แต่สรรพากร ก็ยังใช้วิธีนี้ ด้วยการติดตั้ง
ระบบ “หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย” ตั้งแต่เงินเดือนยังมาไม่ถึงมือผู้เสียภาษี
นี่ก็ทำให้ Success Rate ของการเก็บภาษี = 100% เช่นกัน)


คำถามคือ… เราออมแค่ที่ภาครัฐ/บริษัท ให้ทำมันพอรึเปล่า ?
ถ้าไม่พอ เรารู้หรือไม่ว่า เรายังติดตั้ง “ระบบออมเงินอัตโนมัติ” ได้อีกหลายแบบ

1. มนุษย์เงินฝาก (เสี่ยงต่ำสุดๆ)

สามารถตั้งให้โอนเงินจากบัญชีเงินเดือนที่รับมา เข้าไปบัญชีฝากประจำได้อัตโนมัติทุกเดือน

2. มนุษย์กองทุน (เสี่ยงสารพัดแบบ)

สามารถหักเงินมาลงทุนในกองทุนรวมได้อัตโนมัติทุกเดือน
ได้ในกองทุกประเภท ทั้ง LTF/RMF และกองทุนเปิดทั่วไป

3. มนุษย์หุ้น (เสี่ยงสูง)

สามารถหักเงินมา “ออมในหุ้น” ได้เช่นกัน โดยทุกวันนี้ แม้เงินน้อย แต่ถ้าเข้าโปรแกรมออมหุ้น กับบาง บล.
ก็สามารถกระจายซื้อหุ้นได้หลายตัว เช่นกัน

4. มนุษย์ทองคำ (เสี่ยงสู้ง…สูง แต่บางคนก็บอกไม่เสี่ยง)

สามารถออม “ทองคำแท่ง” ได้ด้วย โดยส่วนใหญ่ทำได้กับ บล. ที่มีเจ้าของเดิมเป็นร้านทองทั้งหลาย

5. มนุษย์ข้าราชการ (เสี่ยงสารพัดแบบ)

ออมเพิ่ม” กับ กบข. ได้มากถึง 15% ของรายได้ จากเดิมที่บังคับออมขั้นต่ำที่ 3%
และยังเอาไปลดหย่อนภาษีเพิ่มได้ด้วย

ระบบทุกระบบ การจะติดตั้งได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ต้องกำหนดให้วันหักเงินนั้น ตรงกับวันที่รับเงินเดือนพอดีหรือใกล้ที่สุด
เพื่อให้มั่นใจได้ว่า “เราไม่ไปตัดหน้าชิงมาใช้ก่อน” แบบนี้ถึงจะได้ Success Rate 100%


ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือ “ความเฉื่อย” หรือ “Inertia
โดยงานวิจัยสาขา การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) พบว่าคนส่วนใหญ่ มีปัญหานี้

นั่นคือเคยทำอะไรอยู่แล้ว จะทำอย่างนั้นต่อไป โดยไม่อยากจะไปแตะต้อง ไปเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น
เดิมไม่ออมยังไง ก็จะไม่ออมอย่างนั้น อย่าไปหวังปาฏิหาริย์

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเริ่มติดตั้ง “โปรแกรมออมอัตโนมัติ” ไปแล้ว
โอกาสจะยกเลิกการออมนั้น ก็จะมีน้อยมากๆๆ คือออมได้ยังไง ก็จะออมต่อได้อย่างนั้นไปเรื่อยๆ


ผมจึงนำรูป “บันไดเลื่อน” มาเทียบเคียง ว่าถ้าจะเดินทางไกล จะต้องกัดฟันออมเงินเป็นหลายร้อยงวด

ท่านจะเลือกทางไหน ?

ระหว่างรูปซ้าย ท่านต้องเดินเองทุกก้าว
ไม่ว่าจะใช้ระบบการออมในยุคที่ 1 หรือ ยุคที่ 2
ท่านก็จะมีวันที่ต้องหมดแรงแล้วหยุดพัก หรืออาจมีวันที่ตกบันได ต้องมาเริ่มใหม่
ทุกๆ ก้าวก็ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างมาก ว่าจะเอา “สุขวันนี้” หรือจะเอา “สุขวันหน้า”

หรือจะเลือกเดินอีกบันไดหนึ่ง คือ “บันไดเลื่อน” ในรูปขวา
บันไดนี้มันยากแค่ “ขั้นแรก” เท่านั้น คือต้องลากตัวเองขึ้นไปยืน (สองขาอย่างมั่นคง) บนบันไดเลื่อนให้ได้
ชนะความเฉื่อย ของตัวเองให้ได้

หลังจากนั้น บันไดเลื่อนจะพาท่านเดินทางไกลต่อไป
โดยที่ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องฝืนใจอีก เข้าทำนอง “Set it and Forget it” นั่นแหละครับ


ผมขอจบไว้ตรงนี้ ว่าจะเดินทางไหน ก็เป็นเรื่องของท่านที่ต้องตัดสินใจ…

แต่ขอให้ตระหนักไว้ว่า

ท่านจะเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจของท่านทั้ง 100%

ทั้งสองทาง ไม่มีทางไหนผิดเลยครับ ถ้าทำได้จริง
รีบไปขึ้นบันได เตรียมความมั่นคงให้กับตัวเองกันเถอะครับ!

2 COMMENTS

  1. ข้อมูลดี เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน

    ขอเป็นนับถือครับ

  2. คิดแต่ประเด็นเรื่องการออมอย่างเดียวยังไม่พอนะครับ ต้องคิดถึงประเด็นเรื่องการลงทุนด้วย
    ถ้าออมในรูปแบบถอนยากเกินไป หรือถอนไม่ได้เลย ประเด็นเรื่องการลงทุน คุณอาจสูญเสียโอกาสไป
    เช่น ถ้าคุณออมเพิ่มใน กบข. สะสมเข้าไปเพิ่มเป็นเงิน 6 แสน แล้ววันหนึ่งมีคนร้อนเงินนำที่ดินราคาตลาด 1 ล้าน มาบอกขาย 5 แสน ถ้าคุณไม่มีเงินสดและไม่มีที่กู้หรือกู้อาจไม่คุ้ม คุณก็สูญเสียโอกาสนี้ไป เป็นต้น
    ดังนั้นจึงควรตรึกตรองหลายๆ ด้านพร้อมกันไป หาจุดที่เหมาะสมสำหรับตนเอง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here