บทเรียนจากหนังเรื่อง Million Dollar Arm

10 เดือน… จากเด็กบ้านนอกในอินเดีย สู่นักเบสบอลมืออาชีพในสหรัฐฯ

เมื่อคืนนี้ผมเพิ่งได้ดูหนังของ Disney ชื่อ “Million Dollar Arm” (ชื่อไทย คว้าฝันข้ามโลก)
ซึ่งเป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงช่วงปี 2008
ณ ปัจจุบัน ตัวละครสำคัญยังมีชีวิต และใช้ชีวิตต่อเนื่องจากในหนัง!

เป็น 2 ชั่วโมงก่อนนอนที่ทำให้อิ่มเอม และนอนหลับฝันดี
เพราะเป็นหนังที่สร้างสรรค์ และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของคนที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ
อยู่ที่เราจะดึงมันออกมาได้แค่ไหน

เนื้อเรื่องพูดถึง Sport Agent ที่กำลังถังแตก เกิดคิดโปรเจ็คพิสดารขึ้นมา
ว่าจะไปจัด Reality Contest ในประเทศอินเดีย
เพื่อเฟ้นหามือขว้าง (Pitcher) เบสบอลที่ขว้างลูกได้เร็วและแม่นยำ
เพื่อผลักดันให้เข้าสู่การเป็นผู้เล่นในลีคเบสบอลอาชีพของสหรัฐฯ

โจทย์นี้ยาก เพราะคนอินเดียแทบไม่เล่นเบสบอลเลย
แต่ที่ตัวเอก เลือกอินเดีย ก็เพราะในเชิงธุรกิจแล้ว หากสามารถสร้าง Sport Idol เป็นคนอินเดียได้
คงสามารถขายอะไรให้กับคนอินเดียได้อีกมากๆๆๆ เพราะประชากรอินเดียมีอยู่ร่วมพันล้านคน!

เนื้อเรื่องตอนที่ไปอินเดียสนุกมาก (โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคยไปมา และชอบประเทศนี้)
สุดท้ายก็ได้เด็กที่มีแววมา 2 คน ซึ่งต้องจากหมู่บ้าน ที่อยู่ในชนบทอินเดีย
เพื่อมาฝึกในสหรัฐฯ โดยมีเวลาแค่ 6 เดือนในการฝึก (เพราะนายทุนให้เวลาแค่นั้น)

ผมขอเล่าแบบข้ามๆ เพราะไม่อยาก Spoil เนื้อเรื่องมาก
แต่บทสรุปคือ เด็ก 2 คนนั้น ในที่สุดก็สามารถ Turn Pro เป็นนักเบสบอลอาชีพได้จริงๆ
และเปลี่ยนชีวิตพวกเขาและครอบครัวไปอย่างถาวร


สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ นอกจากเนื่อเรื่องที่ชวนให้ยิ้ม
และน้ำตาซึมอยู่หลายรอบ คือ

“กระบวนการ” ที่ใช้ในการเปลี่ยนคนธรรมดาๆ ให้เป็นมือโปร

ซึ่งจากเนื้อเรื่อง มันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว
และผมว่าเราสามารถนำมาใช้ได้ด้วย ได้แก่

1. เป้าหมายนั้นมีความหมายต่อชีวิต

ทั้ง 2 คนเป็นเด็กยากจน และไม่ได้มีโอกาสมากในสังคม
พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ทำนี้ จะช่วยพลิกครอบครัวได้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อตัวเอง

2. พวกเค้าทำมันด้วยความสนุก

แม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่พวกเขาก็สนุกกับมัน ตื่นเต้นเวลาที่ได้เห็นคนเก่งๆ ที่เค้าทำได้
สนุกกับการได้เห็นตัวเองทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน

3. มีผู้ใหญ่ใจดีมองเห็นและส่งเสริม

เช่นพ่อแม่ที่ไม่ปิดกั้น แม้จะต้องพรากจากกันไกลหลายพันไมล์
แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ลูกทำได้ดี และลูกก็อยากทำ ก็ยอมที่จะปล่อยลูกไปตามความฝัน

แมวมองรุ่นเก๋า (เกษียณแล้ว) ที่ไปช่วยคัดตัวถึงอินเดีย
ซึ่งมองออกว่า เด็กมีแวว เป็นเด็กที่ฝึกได้ และช่วยออกปากรับรองให้

4. มีครูหรือโค้ชชั้นยอด

พวกเขาได้โค้ชที่อดทน เข้าใจ และเชื่อในศักยภาพของพวกเขา
ไม่รีบชักสะพานกลับ ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เด็กยังทำได้ไม่ดี
แต่ค่อยๆ ฟูมฟักไป คือ ไม่กดดัน… แต่สอนด้วยความเข้าใจเด็ก

5. ฝึกฝนอย่างไม่หยุดหย่อน

แม้จะห่วย จะเหนื่อย จะถูกหัวเราะเยาะยังไง สิ่งหนึ่งที่เด็ก 2 คนนี้ทำเสมอคือ ลุกขึ้นไปซ้อมต่อ

6. มีที่พึ่งทางใจ

พวกเขาได้ระบายออกซึ่งปัญหาบ้าง มีคนให้พูดคุยด้วยทุกเรื่อง (เพื่อนบ้านของพระเอก)
ซึ่งเป็นคนที่รับฟังจริงๆ ฟังแบบไม่ตัดสิน และให้กำลังใจเสมอ

นอกจากนั้นพวกเขายังสวดมนต์ ภาวนา ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอ
(ในเนื้อเรื่องคือพระผู้เป็นเจ้า ในศาสนาฮินดู)
ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ถ้าผมเป็นคนไม่มีหลักยึดทางใจ ก็คงมาไม่ถึงขนาดนี้
บางเรื่องไม่มีหลักฐาน พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ช่วยให้มีพลังใจดีขึ้นได้

7. เต็มที่ใน “เหตุ” ปล่อยวางใน “ผล”

สุดท้ายพวกเขาเลือกที่จะทำเต็มที่
ไม่สำเร็จก็ไม่ยักตาย ไม่ได้เป็นมือโปรก็กลับบ้าน
ขอให้ได้ทำสิ่งที่รักอย่างดีที่สุดก็พอ

พอเลิกคาดหวังกับผล ใจมันก็สบายขึ้น มันก็เริ่มทำด้วยความสนุก
พลังมันก็กลับมา ผลลัพธ์ก็กลับกลายเป็นดีในที่สุด


เขียนมาเสียยาว… ขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะครับ
จริงๆ ก็แค่อยากเชียร์ให้ลองหามาดูให้ได้เท่านั้นแหละครับ
หนังบางเรื่อง ก็สอนเราได้เยอะ และเปลี่ยนเราได้ ไม่แพ้หนังสือเลยครับ!


ปล. ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคโดนใจจากหนัง

“บางอย่างมันแค่ยากมาก ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้”

1 COMMENT

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here