สมมติว่าผมมีเงินลงทุนแค่เดือนละ 5000 บาท ผมวางแผนการลงทุนไว้ 3 วิธีดังนี้

  1. ซื้อกองทุนที่ผมสนใจ 5 กองทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงกองทุนละ 1,000 บาท หรือ
  2. ซื้อแค่ 2 กองทุน กองปันผล 3,000 บาท กองไม่ปันผล 2,000 บาท หรือ
  3. ซื้อกองทุนปันผลกองเดียว 5,000 บาท

โดยทุกๆ ทางเลือก จะลงทุนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ แบบไหนถึงจะให้ผลตอบแทนดีกว่ากันครับ ?


คำตอบ

ก่อนอื่นทำความเข้าใจเรื่อง “การกระจายความเสี่ยง” หรือ “Diversification” กันก่อนนะครับ จะได้คุยภาษาเดียวกัน

กระจายความเสี่ยงกันไปทำไม ?
ถ้ามองยาวๆ โดยทั่วไปเรากระจายความเสี่ยงเพราะ “กลัวพลาด” หรือ “กลัวขาดทุนหนัก” เช่น ถือลงทุนอะไรไปยาวๆ เพียงอย่างเดียว (จะเป็นหุ้น เป็นกองทุน เป็นทองคำ ฯลฯ ก็ประยุกต์ได้หมดครับ) พอผ่านไป 3 ปี 5 ปี ปรากฎว่ามูลค่าลดเอาๆ หรือเจ๊ง กลายเป็น 0 ไปเลย การแบ่งไปถืออย่างอื่นร่วมด้วย ก็พอช่วยได้ เพราะคงไม่ซวยถึงขนาดที่จะเจ๊งทุกตัวที่ถือ

ถ้ามองสั้นๆ เรากระจายความเสี่ยงเพราะ “กลัวความผันผวน” เช่น หุ้น / กองทุน / ทรัพย์สิน ที่เราเลือกมันอาจจะดีมาก ถือยาวไปน่าจะมีกำไร แต่ระหว่างทาง บางทีมันก็ปรับตัวลงแรงมากๆ จนเราเองก็อาจจะทนถือไม่ไหว ขายทิ้งไปเสียก่อน (และมักจะไปขายทิ้งเอาตอนที่ไม่ควรขายที่สุดเสียด้วย)

การลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ก็อาจช่วยลดความผันผวนได้ เพราะในช่วงนั้นอาจมีบางตัวตกเยอะ แต่ก็มีบางตัวที่ขึ้นสวนมา หรือตกน้อยกว่า ซึ่งเมื่อเราวัดผลเป็นภาพรวมทั้งพอร์ต มันก็อาจไม่แกว่งมากเท่ากับการทุ่มลงทุนในตัวใดตัวหนึ่งทั้งหมด

อยากให้ดูวิดีโอตอนนี้ จะเข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยงได้ดีขึ้นครับ
Strategic Asset Allocation : จัดพอร์ตระยะยาวเชิงกลยุทธ์

แต่ต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า “ถ้าเลือกถูกตัว” และ “ทนความผันผวนจากการลงทุนกระจุกได้” การลงทุนกระจุกก็อาจมีกำไรมากกว่าการกระจาย… ตรงนี้เราต้องย้อนมองตัวเอง ว่าฝีมือเราแค่ไหน ?


กระจายแบบไหนความเสี่ยงถึงจะลดลงได้ ?

หากหวังผลในการกระจายความเสี่ยงก็ควรถือสินทรัพย์ที่มีทิศทางการเคลื่อนไหวในระยะสั้น ที่ “ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน” สวนกันได้ก็ยิ่งดี เช่นตัวหนึ่งขึ้น ตัวหนึ่งลง (แต่มีข้อแม้ว่าในระยะยาวทุกตัว หรือทุกสินทรัพย์ที่เลือกมาเข้าพอร์ต ก็ควรจะมีการเติบโตด้วย ไม่งั้นถือไปๆ มาๆ ก็มีสิทธิ์ที่พอร์ตจะยืนอยู่ที่เดิมนั่นล่ะ)

ยกตัวอย่างกรณีเป็นกองทุนแล้วกันนะครับ หากเรากระจายการลงทุนไปในกองทุน 2 กอง ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นไทยทั้งคู่ (จะเป็น Index Fund หรือ Active Fund ก็ตาม)

กรณีนี้เวลาที่หุ้นไทยตก (ดังเช่น ช่วงเวลาที่กำลังเขียนบทความนี้) ทั้งสองกองมันก็ตกกันทั้งคู่ อาจมีตกมากน้อยต่างกันบ้าง (ศพอาจสวยต่างกันนิดหน่อย) อย่างนี้ก็ถือว่า ไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงเท่าไร

ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ ว่าเวลาตลาดหุ้นขาลง กองทุนหุ้นแต่ละกองให้ผลตอบแทนเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ? จริงมั๊ยว่าตายเรียบ ? : กองทุนหุ้นชื่อดัง ให้ผลตอบแทนอย่างไรใน ตลาดขาลง ?

แต่ถ้าสมมติว่า เรากระจายถือ 2 กองเหมือนเดิม แต่ทีนี้เป็นหุ้นไทยกอง และหุ้นต่างประเทศกอง ความเสียหายมันก็อาจจะลดลง เพราะช่วงที่ผ่านมาก็มีหุ้นของหลายประเทศที่ปรับตัวขึ้น (หรือลงน้อยกว่าหุ้นไทย) ในมุมของเรา เราก็อาจจะไม่ “ทุกข์ร้อน” เท่ากับคนที่ทุ่มลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด

แต่ในหลายๆ ครั้ง การกระจายลงทุนในหุ้นเหมือนกัน แม้จะคนละประเทศ ก็อาจซวยพร้อมๆ กันได้ ประมาณว่า “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้” อย่างเช่นในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ หนี้ยุโรป หุ้นก็ตกพร้อมๆ กันทั้งโลก แทบไม่มีหุ้นภูมิภาคไหนหนีพ้น

ดังนั้น ถ้าอยากได้ผลดีจากการกระจายจริงๆ ก็สามารถกระจายไปได้มากกว่าในสินทรัพย์ (Asset Class) เดียวกัน เช่น อาจถือหุ้นร่วมกับ ตราสารหนี้ กับอสังหาริมทรัพย์ กับสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น

บางท่านที่มั่นใจใน “มุมมอง” หรือการ “คาดการณ์” ของตัวเอง ก็อาจมีการปรับน้ำหนักสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ต ให้ได้ผลดี (เพิ่มผลตอบแทน หรือ ลดความเสี่ยง) ไปตามสถานการณ์ ซึ่งเรียกว่าการทำ Tactical Asset Allocation

สนใจเรื่องการจัดพอร์ต กระจายความเสี่ยงแบบเต็มรูปแบบแนว Global Asset Allocation เชิญเรียนได้ใน Series 9 : กลยุทธ์การลงทุน หนักนิดนึงครับ 30 ตอน เรียน 13 ชั่วโมงจบ!

กลับมาที่คำถาม : จะซื้อกี่กองดี ?

จากหลักการกระจายความเสี่ยงข้างต้น น่าจะพอตอบได้นะครับว่า “หากหวังผลตอบแทนสูงที่สุด (โดยเสี่ยงเท่าไรก็ได้)” ก็ต้อง “ซื้อน้อยกองที่สุด แต่เลือกให้ดีที่สุด” หรือลงทุนแบบ Focus นั่นเอง

แต่ถ้าเป้าหมายไม่ใช่แค่จะดูแต่ผลตอบแทนสูงๆ อย่างเดียว “แต่อยากควบคุม/กระจายความเสี่ยงด้วย” ก็ต้อง “มีการกระจายออกไปในกองทุนที่เคลื่อนไหวไม่ค่อยสัมพันธ์กันหลายกองหน่อย โดยที่ทุกกองในระยะยาวนั้นต้องมีการเติบโตด้วย” ส่วนจะกี่กองนั้น ก็อยู่ที่ความรู้และความพอใจเรื่องการจัดพอร์ตของเราแล้วครับ

 

อย่างถ้าเป็นผม สมมติผมเลือกมา 3 สินทรัพย์ ผมก็คงลงแค่ 3 กองทุนที่เป็นตัวแทนของสินทรัพย์นั้นๆ ได้ดีที่สุด เช่น ถ้า 1 ใน 3 สินทรัพย์นั้นเป็นหุ้นไทย ผมก็คงเลือกกองทุนหุ้นไทยที่ผมเชื่อว่าดีที่สุดแค่กองเดียวเลย เพราะต่อให้กระจายถือกองทุนหุ้นไทยหลายๆ กอง มันก็ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงอะไรมากมาย อีกอย่างคือในกองทุนหุ้นไทย 1 กองนั้น ก็กระจายถือหุ้นให้เราเกิน 10-20 ตัวเข้าไปแล้ว


กลับมาที่คำถาม : กระจายในกองปันผล vs ไม่ปันผล ?

ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า หากหวังให้เงินโตเยอะๆ ในระยะยาว ผมคิดว่าเราไม่ควรลงทุนในกองทุนที่จ่ายเงินปันผล เพราะทุกครั้งที่จ่ายเงินปันผล ก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผล และถ้าต้องการให้เงินนั้นเติบโตทบต้น ก็ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับ ย้อนกลับไปซื้อกองทุนกองเดิมใหม่อีกรอบ ซึ่งบางกองตอนซื้อใหม่ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นพวก Front-end Fee อีก

ผมขยายความอย่างละเอียดไว้ในวิดีโอตอน วิธีเลือกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อยากให้ลองเปิดดูนะครับ แม้จะเป็นตัวอย่างของกอง LTF แต่ก็ประยุกต์ใช้กับกองทุนทั่วไปได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ “การกระจายความเสี่ยง” บางท่านก็เชื่อว่า ลงกองที่จ่ายปันผลดีกว่า เพราะถ้าตลาดหุ้นตก แต่มีการปันผลเป็นเงินสดออกมาก่อน พอร์ตเราก็จะไม่ตกมาก ซึ่งก็ฟังดูดี แต่ส่วนตัวแล้ว ผมว่ามันก็ตกมากอยู่ดีครับ เพราะเวลาจ่ายปันผลเนี่ย จะปันจากส่วนกำไรออกมา บางทีก็ปันออกมาแค่ 3-5% ของมูลค่าที่ลงทุนในกองนั้น ช่วงไหนกำไรดีๆ หน่อยอาจจะปันเยอะถึง 10% ของเงินทุน

แต่ไม่ว่ากรณีไหน เงินที่ยังค้างอยู่ในกองทุน ก็น่าจะคิดเป็นประมาณ 90% ของเงินทั้งหมดอยู่ดี ซึ่งถ้าหุ้นตก ก็ตกเยอะไม่ต่างกับกองที่ไม่ปันผลเท่าไรนัก

และยังต้องคิดในทางกลับกันด้วยว่า ถ้าหุ้นไม่ตกแล้วขึ้นต่อ กองที่ไม่ปันผลนั้นก็จะได้กำไรมากกว่า เพราะเงินปันผลที่ได้รับมาถูกนำไปลงทุนต่อโดยอัตโนมัติ ส่วนกองที่จ่ายปันผลออกมา เราก็ต้องมาหาจังหวะเอาเงินปันผลที่ได้รับไปซื้อกลับอีก

ตรงนี้ผม อยากให้ตัดสินใจเอาตามที่ชอบครับ มันอยู่ที่ว่าเรามองมุมไหน ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวของผม หากเป็นการลงทุนที่เน้นการเติบโต ผมใช้กองไม่ปันผล เพราะไม่อยากเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายโดยไม่จำเป็น และไม่อยากยุ่งยากกับการต้องมาจัดการกับเงินปันผล (และยังเสี่ยงที่เงินปันผลนั้นที่ได้รับมานั้น เราจะไม่เอาไปลงทุนต่อ แต่เอามากินมาใช้แทน ซึ่งจะทำให้อัตราการทบต้นลดลงอีก)


ตอบเหมือนไม่ตอบเลย -*-

ขอตอบแนวนี้แหละครับ มีคนแนะนำเหมือนกัน ว่าให้ฟันธงไปเลย ช่วยตอบให้ตรงคำถามซะบ้าง ถามสั้นๆ ตอบสั้นๆ เหมือนที่กูรูตอบกันทางทีวี/วิทยุได้มั๊ย ?

ผมว่าฟันธงไปก็ไม่จบไม่สิ้น สู้พยายามอธิบายหลักคิด แล้วให้ผู้ถามสามารถพิจารณาและตอบตัวเองได้ดีกว่า… เงินเรา เป้าหมายเรา ความพอใจเรา รับผิดชอบเอาทั้ง 100% กันครับ