รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการ “ออมหุ้น
หลักการคือการเอาเงินมาชื้อหุ้นเป็นประจำ โดยไม่สนใจราคาการขึ้นลงของหุ้น รอปันผล ถูกต้องไหมครับ

สำหรับคนที่ไม่ได้มีเป็นเงินก้อน ทางเลือกของพวกเค้า คือกองทุนหุ้นปันผลใช้หรือไม่ครับ
แล้วใช้หลักการเดียวกับการเลือกหุ้นด้วยหรือเปล่าครับ ?


คำตอบ

คำว่า “ออมหุ้น” นี้ เป็นศัพท์ที่กูรูยุคใหม่ๆ ตั้งขึ้นมากันเอง เพื่อ “พลิกมุมคิด
ให้นักลงทุนมองการลงทุนในหุ้น เป็นการ “สะสมความมั่งคั่ง
เพื่อสร้างฐานะให้เติบโตในระยะยาวไปคู่กับหุ้น หรือกิจการที่ลงทุน
แทนที่จะเป็นการไปซื้อๆ ขายๆ ในลักษณะของการจับจังหวะ (Market Timing) หรือการเก็งกำไรในระยะสั้นๆ

และเนื่องจากเป็นการ “บัญญัติ” คำขึ้นมากันเอง จึงไม่ได้มีความหมายที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ
และการที่เรามีกูรูที่พูดเรื่องนี้กันหลายท่าน ความหมายก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง… อยู่ที่ใครพูด

แต่ก็มีแบบแผนที่ผมพอจะสังเกตได้ ดังนี้
(เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผม โปรดใช้วิจารญาณในการรับข้อมูลนะครับ)


1. ขยายความคำว่า “ออม” ในคำว่า “ออมหุ้น”

คือเป็นแนวทางที่เน้นให้นักลงทุน “สะสม” หุ้น คือเน้นการซื้อเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะเป็นการสะสมแบบเป็นประจำ โดยไม่สนใจภาวะตลาด หรือที่เรียกว่าวิธี Dollar-Cost Averaging (DCA)
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/18-buy-dca/

หรือมีการดูจังหวะเพื่อเข้าซื้อบ้าง อาทิ การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) มาช่วย
คือมีการออมเงินรอไว้ในเงินสดหรือตราสารหนี้ แล้วทยอยเข้าซื้อเมื่อราคาลงมาอยู่ในจุดที่น่าสนใจ
เช่น จุดที่มีการขายมากเกินไป (Oversold)


2. ขยายความคำว่า “หุ้น” ในคำว่า “ออมหุ้น”

สินทรัพย์ลงทุน” ที่ใช้ในการออมหุ้น แน่นอนว่าคือ “หุ้นสามัญ
ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ผันผวนได้มากในระยะสั้น

แต่ “เครื่องมือการลงทุน” ที่นำมาใช้ออมหุ้น ก็จะขึ้นอยู่กับกูรูแต่ละท่าน ว่ายกอะไรมาสอนกัน
และ/หรือ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละท่าน ว่าจะเลือกใช้อะไร ซึ่งก็มีหลากหลาย ดังนี้

  • หุ้นรายตัว ซึ่งก็มีสไตล์ต่างๆ เช่น หุ้นเติบโต, หุ้นปันผล ฯลฯ
  • กองทุนหุ้นแบบ Index Fund (เน้นเลียนแบบตลาด)
  • กองทุนหุ้นแบบ Active Fund (มุ่งเอาชนะตลาด)
  • กองทุน LTF/RMF ที่ลงทุนในหุ้น
  • กองทุนรวม ETF
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (GPF)

โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าเครื่องมือจะเป็นอะไรก็ตาม 
สินทรัพย์ปลายทางหากยังเป็น “หุ้นสามัญ” ก็สามารถถือเป็นการออมในหุ้นได้ทั้งสิ้น


3. สมมติฐานร่วม #1 : ผันผวนไม่เป็นไร แต่ระยะยาวต้องปรับขึ้น

การออมหุ้นเป็นการเน้นการซื้อสะสมเข้าไปเรื่อยๆ โดยนักลงทุนสามารถลงทุนระยะยาวได้
ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างทางของการลงทุน จะมีช่วงที่หุ้นปรับตัวลงบ้าง คนที่ออมหุ้นก็ยังตั้งใจที่จะสะสมหุ้นนั้นต่อไป
ซึ่งวิธีการเช่นนี้ อาจกลายเป็น “หายนะ” หากหุ้นนั้นปรับลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ปรับขึ้นมาเลย

ดังนั้น การออมหุ้นจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อ
ในท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้น (รวมเงินปันผลที่ได้ตลอดทาง) สามารถปรับขึ้นมา เหนือกว่าต้นทุนที่ลงทุนมาโดยตลอดได้
และควรจะเหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือ อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่นๆ ที่เสี่ยงน้อยกว่า
เช่น ตราสารหนี้ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ฯ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ ด้วย

ซึ่งสำหรับการออมหุ้น โดยใช้ “หุ้นรายตัว” ก็จะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
เพราะหุ้นรายตัวบางตัวนั้น ถ้าเลือกผิด กรณีเลวร้ายที่สุดอาจกลายเป็น 0 ได้ เช่น บริษัทที่ลงทุนประสบภาวะล้มละลาย
แต่ ถ้าเลือกถูกก็อาจจะชนะตลาดหุ้นอย่างถล่มทลายได้เช่นกัน

ดังนั้น ยังไงเสีย ผู้ที่จะออมในหุ้น ก็ควรมีการกระจายความเสี่ยงบ้าง
เช่นแทนที่จะออมในหุ้นเพียง 1 ตัว ก็ควรกระจายสัก 4-5 ตัว และแต่ละตัวอยู่ในอุตสาหกรรม หรือ Sector ที่แตกต่างกัน
เพื่อเป็น “ภูมิคุ้มกัน” เผื่อความผิดพลาดไว้บ้าง

ซึ่งสำหรับผู้ที่ใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือนั้น ในกองทุนหุ้นต่างๆ มักจะมีการกระจายความเสี่ยงตรงนี้ให้อยู่แล้ว


4. สมมติฐานร่วม #2 : หวังการเติบโตระยะยาว ไม่ใช่รายได้ระยะสั้น

โดยทั่วไปคนที่ออมหุ้นนั้น มักไม่ได้มีเงินมาก
(เพราะถ้ามีมาก คงไม่ต้องออมหุ้น แต่จะลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ)

กลุ่มคนที่ออมหุ้น ก็เช่น มนุษย์เงินเดือน หรือผู้ที่ทำงานมีรายได้
แล้วแบ่งรายได้มาออมในหุ้นเป็นระยะๆ ตลอดช่วงชีวิต จนกว่าจะถึงวันเกษียณอายุ หรือวันที่บรรลุอิสรภาพทางการเงิน

ดังนั้น พวกเขาจึงมี “รายได้ประจำ” เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
และไม่ได้ต้องพึ่งพิงผลตอบแทนในรูปของ “เงินปันผล” จากหุ้น
จึงเน้นการนำเงินปันผลที่ได้รับไปลงทุนต่อ (Reinvest) เพื่อให้การเติบโตของเงินลงทุนเป็นไปในอัตรา “ทบต้น” ได้เต็มที่
(เพราะการปันผลออกมา แล้วเรานำเงินปันผลนั้นไปใช้ จะทำให้การทบต้นช้าลง และทำให้เงินในอนาคตโตได้น้อยลงมาก)

ส่วนการที่กูรูบางท่าน แนะนำให้เลือกหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง (High Dividend Yield)
อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะให้เอาปันผลมาใช้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ออมหุ้นหรือไม่ แต่ผมเดาว่า ไม่น่าใช่แบบนั้น
น่าจะเป็นเพียงหลักการเลือกหุ้นแบบหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะได้หุ้นที่ดี และราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว
ส่วนเงินปันผลที่ได้มานั้น ก็จะนำไปลงทุนต่ออยู่ดี

โดยส่วนตัว หากผมออมหุ้น ผมคงไม่ได้เน้นเงินปันผลมากนัก แต่คงสนใจการเติบโตของหุ้นนั้นมากกว่า
ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเป็นกองทุนหุ้น ผมคงจะเลือกกองทุนหุ้นที่ “ไม่จ่ายเงินปันผล” เพราะอยากให้ผู้จัดการกองทุน
นำเงินไปลงทุนต่อให้มันทบต้นได้เต็มที่ โดยไม่ต้องจ่ายบางส่วนออกมาให้ผมระหว่างทาง

เพราะการจ่ายปันผลออกมา ผมก็ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10%
และยังต้องยุ่งยากนำเงินปันผลที่ได้ กลับไปลงทุนต่อ ในกองทุนกองเดิมอีกต่างหาก


4 ข้อข้างต้นก็เป็นข้อสังเกตของผม ซึ่งก็เป็นเพียงความเห็นของคนคนหนึ่งนะครับ อาจจะไม่ตรงใจบางท่านก็เป็นได้ -/\-

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมอยากจะขอฝากข้อเตือนใจให้กับ “นักออมหุ้น” ไว้ดังต่อไปนี้ครับ

  1. การออมหุ้นไม่เหมาะกับคนทุกคน แต่เหมาะกับคนที่เข้าใจหุ้น
    ทั้งในเรื่องของผลตอบแทน และความเสี่ยง
    [gap height=”1″]
  2. ต้องเตรียมระยะเวลาการลงทุนไว้ยาวพอสมควร เพื่อให้โอกาสวิธีการลงทุนนี้ได้สัมฤทธิ์ผล
    [gap height=”1″]
  3. ลงทุนระยะยาวไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จเสมอไป ปัจจัยที่สำคัญมากๆ คือ หุ้น หรือ กองทุนหุ้นที่เราเลือก
    จะต้องเติบโตและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวด้วย (ถือยาวในหุ้นหรือกองทุนที่แย่ = หายนะ)
    ดังนั้น ต้องใส่ใจกับ “การเลือก” อย่างมากๆๆๆ ถ้ารู้ตัวว่าเลือกไม่เป็น ให้กองทุนเลือกให้ก็อาจจะดีกว่า
    [gap height=”1″]
  4. จุดพิสูจน์ใจ ไม่ได้อยู่ในตลาดขาขึ้น แต่จะอยู่ในตลาดขาลง
    ว่าถ้าหุ้นตกหนักๆ กองทุนหุ้นที่ลงทุนมี NAV ร่วงเยอะๆ เราจะยังเป็น “นักออม”
    คือ สามารถลงทุนสะสมหุ้นนั้น อย่างต่อเนื่องได้มั๊ย ? (ที่น่ากลัว คือเราจะขายทิ้งหมดเอาตอนนั้น)
    [gap height=”1″]
  5. Action ที่ช่วยเพิ่มพลังให้วิธีการนี้ได้อย่างจริงจัง คือการ “ออมเพิ่ม” เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น หรือเมื่อมีรายได้พิเศษ
    แต่อย่าทุ่มมาจนหมด ต้องมีการ “วางแผนการเงิน” ด้านอื่นๆ ร่วมด้วย

ขอให้มีความสุขและประสบความสำเร็จกับการ “ออมหุ้น” ตามสมัยนิยมคร้าบ ^-^

1 COMMENT

Leave a Reply to Umi Kanaka Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here