Planning

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นครับ… อยู่ดีๆ ช่วงนี้ผมก็ได้รับคำถามซ้ำๆ จากหลายท่าน เกี่ยวกับเรื่อง

การยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ซึ่งผมก็เห็นว่ามีผู้รู้หลายๆ ท่านได้พยายามให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ไปแล้ว…

ดังนั้น ก่อนอ่านคำตอบของผมด้านล่าง ผมจะรบกวนให้ลองไปอ่านบทความ LTF และ RMF คงจะไม่ยกเลิกกันสินะ” ของพี่ @TAXBugnoms ก่อน อาจจะเข้าใจจนไม่ต้องอ่านของผมเลยก็ได้ครับ


คำถาม-คำตอบ

ผมขอแยกคำถามที่ผมได้รับออกเป็นข้อๆ ไปดังนี้ครับ

ข้อ 1.

เรื่อง LTF/RMF ที่สรรพากรและหน่วยงานต่างๆ ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อ ว่าจะสิ้นสุดลง หรือ จะถูกยกเลิกมันยังไงกันแน่ครับ ?

เนื่องจากเวลาสื่อต่างๆ ลงข่าวนั้น บางทีก็ใช้การพาดหัวด้วยคำสั้นๆ (ที่กระชับแต่น่าตกใจ) หรือเป็นการพูดรวมๆ  (เหมารวมทั้ง LTF และ RMF ไปด้วยกัน) หรือบางข่าวก็เป็นเพียง “ข้อคิดเห็น” ของเจ้าหน้าที่บางท่าน (ซึ่งยังไม่ใช่คำสั่งที่เป็นทางการ) ผนวกกับการที่ Social Media ยุคนี้สามารถส่งต่อข่าวสารต่างๆ ได้รวดเร็วมาก จึงทำเราสับสนได้มาก

ในประเด็นนี้ผมขอสรุปดังนี้ครับ

  • LTF จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลงในปี 2560 ขยายความคือ สามารถซื้อเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ภายในปี 2559 เป็นปีสุดท้ายครับ
  • สาเหตุของการสิ้นสุดการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ไม่ได้เกิดจากการถูกยกเลิก หรือถูกสั่งให้ยุติใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะกองทุน LTF นั้น มีการกำหนดอายุของสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ตอนที่มีการอนุญาตให้มีการออกกองทุนประเภทนี้ครับ
  • RMF ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ตามปกติ
  • นอกจากนั้น กองทุน RMF ไม่มีการกำหนดอายุของสิทธิประโยชน์ทางภาษีเอาไว้ นั่นก็คือสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนไปได้เรื่อยๆ จนกว่ากรมสรรพากร และภาครัฐจะมีการเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกสิทธิ์นี้

ข้อ 2.

อย่างนั้น กรณี LTF ที่จะสิ้นสุดลง จะซื้อลดหย่อนได้อีกกี่ปี ปีไหนบ้างครับ ?

สามารถซื้อลดหย่อนได้อีก 3 ปี ได้แก่ ปี 2557, 2558 และ 2559 ครับ


ข้อ 3

กองทุน LTF สิ้นสุดอายุลงแบบนี้ พอปี 2560 เราก็ขายได้เลยใช่มั๊ยครับไม่ต้องรอ 5 ปีปฏิทินแล้ว  ?

เงื่อนไขการรับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีนั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ลงทุนในกองทุน LTF จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 ส่วนคือ 1) การนำไปเป็นค่าลดหย่อนเมื่อซื้อ และ 2) การยกเว้นภาษีกำไรเมื่อขาย ก็ต่อเมื่อถือครองครบ 5 ปีปฏิทิน

ดังนั้น แม้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (ของเงินลงทุนใหม่) จะสิ้นสุดลง แต่ก้อนที่ซื้อไปแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไป (เว้นแต่จะมีการออกประกาศ หรือออกกฎหมายอื่นๆ มาแก้ไข/ยกเว้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี)

ขยายความคือ

ก้อนที่ซื้อลงทุนในปี 2557 ต้องถือถึง 2561 ถึงขายได้อย่างถูกเงื่อนไขการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ก้อนที่ซื้อลงทุนในปี 2558 ต้องถือถึง 2562 ถึงขายได้อย่างถูกเงื่อนไขการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ก้อนที่ซื้อลงทุนในปี 2559 ต้องถือถึง 2563 ถึงขายได้อย่างถูกเงื่อนไขการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี


ข้อ 4

คำว่าสิ้นสุดอายุลงนี้คือพอปี 2560 กองทุนจะปิดกอง หรือว่าจะกลายเป็นกองทุนเปิด เหมือนกองทุนหุ้นทั่วไปครับ แล้วอย่างนี้ ถ้าเรายังอยากลงทุนในกอง LTF เดิมจะซื้อเพิ่มได้มั๊ยครับ แล้วกำไรจากการซื้อนั้นไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกองทุนหุ้นทั่วไปเลยใช่มั๊ย เพราะไม่ได้นำไปใช้ลดหย่อนแล้ว และก็ไม่มีเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีปฏิทินแล้วด้วย ?

ด้วยขอบเขตความรู้ของผม ผมยังไม่เคยเห็นมีการเขียนแนวปฏิบัติ หรือระบุเงื่อนไขไว้ที่ไหน ว่ากรณี LTF สิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลง จะต้องดำเนินการอย่างไร ดังนั้น คำตอบต่อจากนี้จึงเป็น “ข้อคิดเห็น” ของผมล้วนๆ ซึ่ง “ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” และไม่สามารถ และไม่ควรนำไปอ้างอิงอะไรทั้งสิ้นครับ

ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกก่อนว่า คำว่า “สิ้นสุดอายุการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี” นั้น ไม่ได้หมายความว่าให้ “ปิดหรือเลิกกองทุน” แต่อย่างใด…

ดังนั้น ผมคิดว่า กองทุน LTF เดิมก็จะยังอยู่ต่อไป อย่างน้อยๆ ก็ต้องยังอยู่ เพื่อให้คนที่เพิ่งซื้อลงทุนในปี 56, 57, 58, 59 ได้ถือจนครบเงื่อนไข 5 ปีปฏิทินเสียก่อน ส่วนในปี 2560 นั้น จะยังซื้อเพิ่มได้หรือไม่ หรือให้ขายออกได้อย่างเดียว ตรงนี้ผมไม่สามารถคาดเดาได้ และกรณีที่ให้ซื้อเพิ่มได้ กำไรจะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกองทุนหุ้นทั่วไปหรือไม่ ผมก็ไม่สามารถคาดเดาได้เช่นกันครับ

ดังนั้น ถ้าจะให้ความเห็นแบบปลอดภัยไว้ก่อน ผมก็คิดว่าถ้าอยากลงทุนจริง ก็เลือกกองหุ้นที่เป็นกองทุนเปิด ที่มีนโยบายคล้ายๆ กัน ของค่ายเดียวกัน เพื่อนำมาลงทุนแทนจะปลอดภัยกว่าครับ


ข้อ 5

เมื่อ LTF สิ้นสุดอายุลง ช่วงนั้น หรือก่อนหน้านั้น ผมควรจะต้องขายออกก่อนมั๊ยครับ ผมเข้าใจว่าถ้าคนแห่ขาย LTF ออกมา NAV ก็จะลดลง ถ้าเราไม่รีบขายก่อน ก็จะขาดทุน ?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ราคา NAV เพิ่มหรือลดได้อย่างไร ถ้ามีเวลาผมอยากให้ดูวิดีโอตอนนี้ครับ

วิดีโอ ตอนที่ 2 : เข้าใจมูลค่าหน่วยลงทุนให้ถ่องแท้

โดยสรุป  NAV ของกองทุนจะเพิ่มหรือลดนั้น อยู่ที่ว่าสินทรัพย์ของกองทุน ซึ่งในที่นี้ก็คือ “หุ้น” ที่กองทุนถืออยู่โดยเฉลี่ยแล้วมีการปรับตัวขึ้น หรือปรับตัวลง ถ้าหุ้นที่ถือโดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้น NAV ก็เพิ่มขึ้น ถ้าหุ้นที่ถือโดยเฉลี่ยปรับตัวลง NAV ก็ลงตาม กระบวนการนี้เราเรียกว่า “การบันทึกราคาตามมูลค่าตลาด (Mark-to-Market)

ถ้าอ่านดูเผินๆ ก็จะเห็นว่า การที่มีคนมาขายกองออกเยอะๆ ไม่น่าจะกระทบ NAV ได้

แต่ถ้าพิจารณาลึกๆ มันก็มีโอกาสครับ เพราะเมื่อมีคนแห่มาขายกองออกเยอะๆ กองทุนก็จำเป็นต้อง “ขายหุ้น” ที่ถืออยู่ออกไป เพื่อแปลงเป็นเงินสดนำมาคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งก็มีโอกาสที่ “หุ้นบางตัว” โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่กองทุนหลายๆ กองนิยมลงทุน จะถูก “เทขาย” ออกพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่มีแรงซื้อที่มากพอมารับการขายขนาดนั้นได้ (แรงซื้อยังสามารถมาได้จากนักลงทุนอีก 3 กลุ่มที่เหลือ คือ รายย่อย ต่างประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์)

ในกรณีแบบนี้ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นตกลง ดังนั้น เมื่อกองทุนเอาราคาหุ้นที่ตกลงมา Mark-to-Market ก็จะกลายเป็นว่า NAV ปรับลดลงตามไปด้วย

ซึ่งใน “ความเห็น” ของผมนั้นถ้ากองไหนถือหุ้นขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องที่ดี มีนักลงทุนหลายๆ กลุ่มเข้ามาลงทุน ก็ “น่าจะ” ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อีกอย่างหนึ่งก็คือ  การที่ผู้ถือหน่วยจะแห่ไปขาย LTF ออกนั้น ก็คงไม่ถึงกับมาขายออกจนหมดกองในทีเดียว เพราะก็ยังมีเงินบางส่วน ที่ยังไม่ครบกำหนดถือครอง ยังขายไม่ได้อยู่ รูปแบบการขายจึงอาจเป็นการทยอยขายมากกว่า นอกจากนั้นผู้จัดการกองทุน ก็อาจจะสามารถเตรียมการล่วงหน้า ด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินสดในพอร์ต หรือเปลี่ยนไปถือหุ้นที่มีสภาพคล่องดีๆ เอาไว้ ก่อนที่จะเกิดเหตุการแห่มาขายกองแบบนั้น

ถ้าให้พยายามเดาต่อไป ผมว่าก็จะเริ่มมั่วแล้วครับ ตอบมาขนาดนี้ ก็เกือบจะเป็น “หมอเดา” แล้ว… เพราะมันเป็นเรื่องอนาคตมาก… ผมหยุดไว้แค่นี้ดีกว่า

โดยสรุปก็คือ ถ้าเรากังวล LTF ก้อนไหนที่ครบกำหนดถือครองแล้ว เราก็อาจจะเปลี่ยนไปลงทุนกองทุนหุ้นทั่วไปกองอื่นๆ ที่มีนโยบายใกล้เคียงกับกอง LTF เดิม ซึ่งส่วนใหญ่ ในค่ายเดียวกันก็มักจะมีกองหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกับกอง LTF ที่เราลงอยู่ครับ


ข้อ 6

ผมเข้าใจถูกมั๊ยครับว่าสำหรับกองทุน RMF นั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็สามารถลงทุน และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ ?

เข้าใจถูกต้องครับ นับถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และภาวนาขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะขนาดมี RMF คนไทยยังลงทุนเพื่อเกษียณอายุกันน้อย ถ้าไม่มี ประเทศไทยในวันข้างหน้าคงจะน่าเป็นห่วง เพราะจะมีคนแก่ที่มีปัญหาการเงินจำนวนมากอย่างแน่นอน