ตัวเรา… เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด 

ถือเป็น Asset ที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมายเหลือเชื่อ บางคนแค่เกิดมาในโลก ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือกระทั่ง มนุษยชาติ ขณะที่บางคน ลำพังจะเอาตัวเองให้รอดก็ยังยาก

แน่นอนว่าบางเรื่องก็เป็น “พรสวรรค์” ที่ติดตัวคนคนนั้นมา ทำให้เค้ามี Human Asset ที่ดีและพร้อมกว่าคนอื่นๆ แต่ก็อย่าดูถูก “พรแสวง” นะครับ เพราะคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาได้แน่นอน! แต่น่าเสียดายที่พอเราจะเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง บางคนกลับไปสร้าง “สร้างขีดจำกัด” ให้ตัวเอง โดยไม่รู้ตัว


ขีดจำกัดที่สร้างขึ้นเอง

ไม่รู้ว่าทุกท่านเคยเป็น หรือเคยเห็นคนที่เป็นแบบนี้มั๊ยครับ ?

คนที่พอเห็นตัวเลข เห็นงบการเงิน เห็นสมการคณิตศาสตร์เยอะๆ ก็จะบ่นหรือคิดกับตัวเองว่า

“โอ้ย… เรามันไม่เก่งเลข เอาดีเรื่องนี้ไม่ได้หรอก”

คนที่พอต้องให้ออกไปยืนบรรยายต่อหน้าคน หรือต้องออกไปขาย/แนะนำสินค้า ก็จะบอกว่า

“ผมไม่ถนัดเลยครับ ขอผมทำงานเบื้องหลังดีกว่า”

คนที่พอต้องไปทำอะไรนอกสายที่เคยเรียนมา ก็จะ “ติดกรอบ” ว่า

“ผมไม่ได้เรียนมา”

กรอบความคิดแค่นี้ล่ะครับ… ที่เป็น “ขีดจำกัดที่เราสร้างขึ้นเอง” ซึ่งถ้าเราเข้าใจมัน การจะทะลายมันลงได้นั้น “เป็นไปได้

แล้วเราจะรู้ว่าเราทำอะไรได้อีกเยอะ!


Growth vs Fixed Mindset

ผมอยากให้ใช้เวลาสัก 3-4 นาที ดูวิดีโอนี้ แล้วค่อยอ่านต่อนะครับ

หลังจากดูแล้ว จะพอเข้าใจนะครับว่า

Fixed Mindset คือการตีกรอบตัวเองว่า เราทำได้แค่นี้ และเราไปไม่ได้ไกลกว่านี้แล้ว เป็นการ “สาบแช่ง” ตัวเอง ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเด็กเสียมาก เช่น บางคนสอบตก เรียนบางเรื่องตามเพื่อนไม่ทัน กระทั่งการถูกตัดสินจากผู้หลักผู้ใหญ่ และมันกลายมาเป็นปม ตีกรอบเราไว้ว่า “กูได้แค่นี้ล่ะ

ซึ่ง Fixed Mindset นี่ ไม่ใช่ธรรมดานะครับ สามารถขยายขอบเขตและสร้างปัญหาไปในระดับประเทศ หรือระดับโลกเลย

  • ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้
  • นักการเมืองคนไหนๆ ก็โกงทั้งนั้น
  • คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น
  • โอกาสตกเป็นของคนแค่หยิบมือเดียว
  • จะรวยได้ต้องรู้จักเอาเปรียบคน
  • ต้องเรียนโรงเรียนดีๆ ถึงจะสำเร็จ

เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของ Fixed Mindset ที่เราต้องเคยได้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง ซึ่งมันก็สะสมพอกพูนมาจนเป็นคำพูดติดปาก จนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้วด้วยซ้ำ ถ้าลองเอามาไตร่ตรองดีๆ ด้วยเหตุผล จะเห็นเลยว่า ถ้าเชื่อกันแบบนี้ก็ไม่ต้องพัฒนาไปไหนกันแล้ว

ขณะที่ Growth Mindset นั้นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการเชื่อในศักยภาพของคน เชื่อว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ แม้จะพัฒนาได้เร็วช้าต่างกัน แต่เด็กที่เรียนช้า ก็ไม่ใช่เด็กที่พัฒนาไม่ได้ วันหนึ่งที่เขาเรียนตามมาทัน เขาอาจทำได้ดีกว่าเด็กเรียนเร็วด้วยซ้ำ

สิ่งที่คำสัญที่สุดคือ

ใครเชื่อแบบไหน… ได้แบบนั้น!

คนที่คิดแบบ Fixed ก็จะสาบตัวเองต่อไป ส่วนคนที่คิดแบบ Growth ก็จะพัฒนาตัวเองต่อไป

(เวลาพูดคำว่าพัฒนา บางท่านอาจจะบ่นว่า “จะชวนกันรวยไปไหน” ผมอยากอธิบายว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องรวยครับ พัฒนาในที่นี้ จะพัฒนาด้านไหนก็ได้ที่เราสนใจ และอยากบอกว่า การบ่นของท่าน ก็น่าจะเข้าข่ายเป็น Fixed Mindset ด้วยเหมือนกัน)

แค่เข้าใจความแตกต่างของสองเรื่องนี้ และตอบตัวเองให้ได้ ว่าเราจะเลือกมี Mindset แบบไหน ก็เป็น “ขั้นตอนแรก” ของการทะลายข้อจำกัดนั้นแล้ว


ก้าวต่อไป… คือออกไปลุย ไปผิด ไปพิสูจน์

หลังจากเชื่อแล้ว มันยังไม่จบครับ เพราะ Fixed Mindset บางอย่างมันฝังรากลึก การจะลบมันออกไปและสร้าง Growth Mindset ขึ้นแทนได้ เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามช่วยด้วย

นั่นคือการไปลองทำอะไรที่เราอยาก แต่ไม่เคยกล้าทำมาก่อน แต่ต้องไปภายใต้เงื่อนไขใหม่คือ

ให้เตรียมใจไว้เลยว่างานนี้มีโชว์โง่ มีหน้าแตก มีล้ม มีผิดพลาด มีเสียงหัวเราะเยาะ มีอะไรที่จะมาขวางเราอีกสารพัดแน่นอน!

แต่เราจะมองมันเป็นเรื่อง “ธรรมดา” หากเรื่องนั้นสำคัญจริง เราจะลุยจนกว่าจะได้!

ท่องไว้ในใจว่า “เรียนช้า ไม่ได้แปลว่าเรียนไม่ได้” หรือแบบแรงหน่อยก็

ถ้ากูอยากทำซะอย่าง กูจะทำอะไรก็ได้ คนที่บอกให้กูเลิกได้คือกูคนเดียว

ฝึกที่จะดื้อ ฝึกที่จะดึงดัน ทำไปเรื่อยๆ ครับ แต่ขอให้ทำอย่างฉลาด

  • หนังสือเล่มไหนมันอ่านยาก ก็เปลี่ยนเล่ม
  • ศึกษาเองไม่รู้เรื่อง ก็หาคนสอน หาคนถาม
  • อาจารย์คนไหน สอนไม่เข้าใจ ก็เปลี่ยนหรือหาอาจารย์เพิ่ม
  • เรียนขั้น Advanced ไม่ไหว ก็เริ่มจาก Basic ก่อน
  • คนอื่นเค้าเรียนใช้เวลา 1 เดือน เรามันช้า ก็ใช้เวลา 1 ปีก็ได้ (ใจเย็นๆ)

ทำไปเรื่อยๆ ทำไปอย่าคิดมาก เราจะเริ่มได้ทักษะใหม่ๆ เล็กน้อยๆ เริ่มพิสูจน์กับตัวเองได้ว่า

กูไม่ได้โง่ อย่างที่กูคิด

ปัญญามันก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น เพราะเราได้ “ประจักษ์” กับตัวเองแล้วว่า

กูก็ทำได้ ในแบบของกู!

 

2 COMMENTS

  1. ชอบครับ อาจารย์เอ ตรงกับตัวเองสมัยก่อนมากๆ

    ผมเคยมี fixed mindsets “ไม่ได้เรียนการเงินมา เราเก่งสู้คนที่เรียนมาไม่ได้หรอก” กับ “ภาษาอังกฤษเรียนตอนโต ไม่รุ่งหรอก” แต่ทำลายมันได้ละครับ ค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆ ตอนนี้มี Growth mindset เปนสิ่งยึดเหนี่ยวครับ !

  2. ตัวอย่างวิธีพัฒนาศักยภาพแบบทหารนะครับ
    ครั้งแรก! ช่างแสนยาก
    ความกลัวสิ่งใหม่ที่ไม่รู้จัก/ไม่เคยทำ/ไม่เคยพบเห็น ทำให้คนเราไม่กล้าที่จะทำเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพบกับปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ? มีอันตรายหรือไม่ ? อย่างไร ? สิ่งนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ ?
    ฉะนั้นการจะกระทำสิ่งใหม่ที่ไม่รู้จัก ครั้งแรกที่จะลงมือทำช่างแสนยากนัก เพราะความกลัวเป็นต้นเหตุ ตัวอย่างเช่น
    นักเรียนกระโดดร่มทหาร ครั้งแรกที่ไปฝึกกระโดดร่มบนเครื่องบิน เมื่อถึงคิวตัวเองจะต้องกระโดด มีหลายคนที่ไม่กล้ากระโดด มือของเขาเกาะสิ่งรอบตัวไว้แน่นเพราะกลัวมาก คุณรู้มั้ยว่า ครูฝึกทำอย่างไร ?
    ถีบ ! ครับ
    ได้ผลแฮะ ! ครั้งแรกที่นักเรียนทหารจะต้องกระโดดร่มบนเครื่องบิน พวกเขารู้สึกกลัวมากๆ บางคนกลัวจนตัวเกร็งแทบเป็นลม แต่หลังจากถูกครูฝึกถีบออกจากเครื่องบิน และลงถึงพื้นดินได้อย่างปลอดภัยในครั้งนั้นแล้ว ความกลัวของพวกเขาได้ลดลง
    เมื่อได้ผ่านการมีประสบการณ์ครั้งแรกแล้ว ครั้งที่ 2 คราวนี้อาจไม่ต้องถีบเขาอีกแล้ว เพราะความกลัวของเขาลดลง เขาอาจสามารถกระโดดเองได้
    ครั้งที่ 3 ความกลัวของเขาลดลงอีก การกระโดดร่มก็ง่ายขึ้น
    ครั้งที่ 4 และครั้งต่อๆ ไป ความกลัวของเขาลดลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็สามารถกระโดดร่มได้โดยแทบไม่มีความกลัวอีกเลย และคนๆ นั้นอาจจะเป็นแชมป์เปี้ยนกระโดดร่มในเวลาต่อมาก็ได้
    เห็นหรือยังครับ ! ถ้าไม่ถีบ บางคนอาจกระโดดร่มไม่ได้เลย ครั้งแรกช่างแสนยากจริง ๆ

    อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการเจาะเลือดพลทหารที่เข้ารับการฝึกใหม่ๆ เพื่อตรวจหาหมู่เลือดและสิ่งผิดปกติในร่างกายบางอย่าง พลทหารจำนวนมากในหน่วยฝึกจะต้องเดินเรียงแถวเข้ารับการเจาะเลือดจากเจ้าหน้าที่ โดยการเจาะเอาตัวอย่างเลือดในแต่ละคนจำนวนเพียงเล็กน้อย ประมาณ 10 ซี.ซี.เท่านั้น คุณรู้มั้ยในระหว่างที่เข้าแถวรอ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
    พลทหารหลายคนกลัวจนหน้าซีด บางคนอาจถึงขั้น เกร็ง ชัก เป็นลม หมดสติ
    ท.ทหาร กล้าหาญ อดทน ไม่กลัวใคร
    แต่กลัวเข็มฉีดยาเล็กๆ และกลัวเห็นเลือดครับ เพราะพวกเขาหลายคนไม่เคยถูกเจาะเลือดมาก่อน พวกเขาจึงกลัวเป็นอย่างมาก แต่ไม่เจาะเลือดก็ไม่ได้เพราะหน่วยบังคับ พวกเขาจึงจำใจต้องรับการเจาะเลือด แต่หลังจากถูกเจาะเลือดครั้งนั้นแล้ว คราวต่อไปพวกเขาก็ไม่ค่อยกลัวการถูกเจาะเลือดอีก สังเกตเห็นได้จากการที่โรงพยาบาลไปขอรับบริจาคโลหิต พวกเขาจะมาเข้าแถวรอ บริจาคโลหิตด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แตกต่างจากครั้งแรกเป็นอย่างมาก
    เห็นหรือยัง ! ถ้ากองทัพไม่บังคับเจาะเลือดครั้งแรก ทหารเหล่านี้อาจจะกลัวเห็นเลือดไปตลอดชีวิต ถ้าไปสู้รบแล้วเห็นเลือดตัวเองหรือเพื่อนทหาร อะไรจะเกิดขึ้น? และการขอรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนทหารด้วยกันก็คงจะได้รับโลหิตบริจาคไม่มากนัก
    ครั้งแรกช่างแสนยากจริงๆ แต่ถ้าคุณผ่านครั้งแรกได้ ครั้งต่อไปก็เป็นเรื่องง่าย
    ฉะนั้นการจะทำอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยกระทำ/ไม่เคยรู้จักมาก่อนพวกเราจะกลัว แต่ถ้าคุณมีสถานภาพเป็นพ่อแม่หรือผู้บังคับบัญชา และคุณมีความคิดเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ คุณอาจจะแก้ปัญหานี้โดยการบังคับพวกเขาในครั้งแรกก็ได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่คุณจะต้องกระทำเอง คุณต้องกล้ากระทำแม้จิตใจของคุณจะหวาดกลัว คุณต้องกล้าก้าวไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น อย่ารีรอ
    เมื่อคุณได้ผ่านครั้งแรก ครั้งต่อไปก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

Leave a Reply to เมธัส Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here