เมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 58) ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนา “Crowdfunding : A New Way to Finance Startups” ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ได้รับฟังพัฒนาการบางอย่างที่น่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ “การระดมทุน” ของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง (SMEs) และธุรกิจตั้งใหม่ (Startups) ได้อย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้ (หลายๆ ประเทศเริ่มทำกันแล้ว แต่ประเทศในโซนเอเชียรวมทั้งไทย กำลังจะเริ่มอย่างจริงจังปลายปี 2015 นี้)

โอกาสนี้จึงขอสรุปมาให้เรียนรู้ด้วยกันนะครับ


1. Crowdfunding คืออะไร ?

คือการระดมเงินทุน (เพื่อนำไปประกอบธุรกิจ หรือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะบางอย่าง) จากคนจำนวนมากๆ (เป็นที่มาของคำว่า Crowd = ฝูงชน) ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเงินลงทุนต่อคนที่ไม่มากนัก และนักลงทุน (ผู้ให้เงิน) ไม่ได้มีความตั้งใจจะเข้าไปควบคุมดูแลธุรกิจนั้นๆ


2. Crowdfunding มีกี่ประเภท ?

มีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. Donation-Based / Reward-Based Crowdfunding
    คือการระดมเงินทุนในรูปแบบการ ขอบริจาค (Donation) หรือการให้สิทธิ์ประโยชน์บางอย่าง (Reward) เป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินทุน เช่น ให้สินค้าหรือบริการต้นแบบรุ่นแรกๆ ไปลองใช้ก่อนทำการตลาดเชิงพาณิชย์อย่างจริงๆ จังดูตัวอย่างได้ที่ : www.kickstarter.com และ  www.indiegogo.com 
  2. Loan-Based / Debt Crowdfunding
    คือการขอกู้เงิน (Loan) จากคนทั่วไปจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ล่วงหน้า โดยมีกำหนดในการชำระเงินกู้คืน และมีการจ่ายดอกเบี้ย ให้กับนักลงทุนดูตัวอย่างได้ที่ : www.kiva.org 
  3. Equity Crowdfunding
    คือการ “เข้าหุ้น” กันดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ล่วงหน้า โดยนักลงทุนจะได้รับหุ้น (สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของบริษัท) แลกกับเงินทุน พร้อมโอกาสในการได้รับเงินปันผล (ส่วนแบ่งกำไร) จากกิจการในอนาคต และอาจสามารถขายหุ้นที่ได้มา เพื่อกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) เช่น ขายให้กับกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) หรือ ขายเมื่อมีการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดูตัวอย่างได้ที่ : www.startupvalley.com 

ซึ่งไฮไลท์ของงานสัมมนานี้คือ ประเภทสุดท้าย “Equity Crowdfunding” เพราะประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายขึ้นมารองรับการระดมทุนประเภทนี้อย่างถูกต้อง (พร้อมๆ กับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่จะมีกฎหมายออกมารองรับในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน)


3. ทำไมต้อง Crowdfunding ล่ะ ? 

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ มีประวัติการดำเนินงาน มีสินค้าและบริการที่จับต้องได้ มีตลาดที่เห็นชัดเจนพอสมควร ก็คงไม่ต้องมาใช้ Crowdfunding เพราะสามารถ “กู้เงิน” จากสถาบันการเงินต่างๆ ได้อยู่แล้ว หรือกระทั่งจะ “เพิ่มทุน” ด้วยการระดมผ่านการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ก็ย่อมได้

สำหรับบริษัทขนาดกลางๆ ที่แม้จะยังใหม่อยู่ แต่ก็ได้ผ่านช่วงแรก (Early Stage) ของการจัดตั้งธุรกิจมาได้ ขาดแค่เพียงเงินทุนที่ถ้าได้รับ ก็สามารถจะโตได้แบบก้าวกระโดด ก็สามารถระดมทุนได้จากกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) หรือจากนักลงทุนรายใหญ่ (Angel Investor) หรืออาจถึงขั้นสามารถ “กู้เงิน” มาใช้ขยายกิจการได้

แต่กับบริษัทขนาดเล็ก หรือเป็นบริษัทตั้งใหม่เลย การระดมทุนผ่านช่องทางข้างต้นทั้งหมดก็ แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เงินลงทุนช่วงแรกๆ จึงเป็นเงินทุนส่วนตัวของกลุ่มผู้ก่อตั้ง (Founders) และอาจหยิบยืมจากพี่น้องเพื่อนฝูงได้บางส่วน ซึ่งก็อาจไม่มากพอ และกลายเป็นอุปสรรค

ซึ่งการมี Crowdfunding ช่วยให้บริษัทเล็กๆ สามารถเข้าถึงทางเลือกใหม่ของการระดมทุนได้ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ “ไอเดียดีๆไม่ฝ่อตายไป” ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ ด้วยข้ออ้างว่า “ไม่มีเงิน


4. กระบวนการ Equity Crowdfunding ทำอย่างไร ?

การที่ธุรกิจ (ผู้ต้องการเงินทุน) จะมาเจอกับนักลงทุน (ผู้ที่มีเงินเหลือได้) ได้นั้น จะต้องมี Marketplace หรือศูนย์กลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลของธุรกิจ และเงินทุนของนักลงทุน ซึ่งเรียกว่า “Funding Portal” (ตัวอย่างในประเทศไทยคือ www.dreamakerequity.com)

บริษัทหรือธุรกิจที่สนใจระดมทุนผ่าน Equity Crowdfunding ก็สามารถติดต่อกับ Funding Portal เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมโดยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ อาทิ แผนธุรกิจ รายละเอียดทีมงานผู้ก่อตั้ง สินค้าและบริการตัวอย่าง

สมมติฐานและประมาณการทางการเงิน วิดีโอแนะนำบริษัท ฯลฯ ให้พร้อม หลังจากนั้นข้อมูลดังกล่าวก็จะไปแสดงเป็นข้อมูลสาธารณะ (Public) บนเว็บไซต์หรือ Platform ของ Funding Portal โดยจะมีระยะเวลาการระดมทุนที่จำกัด เช่น กินเวลาประมาณ 30-90 วัน หากระดมได้ไม่ครบก็ต้องคืนเงินไป แต่หากระดมได้เกินก็จะมีการ Pro-Rate ไปตามสัดส่วนเงินที่มีนักลงทุนจองเข้ามา ในช่วงนั้นทีมผู้ต่อตั้งก็ต้องใช้ความสามารถเต็มที่ในการที่จะทำให้คนสนใจมาศึกษาธุรกิจและร่วมลงทุนให้ได้ พูดง่ายๆ คือต้องขายตัวเองให้ได้ในขั้นนี้

ฝั่งของนักลงทุน ก็สามารถเปิดไปยังเว็บไซต์ของ Funding Portal เพื่อ “ช๊อป” ธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมลงทุน โดยศึกษารายละเอียดต่างๆ ของธุรกิจที่มีเผยแพร่ และสามารถสอบถามไปยังทีมผู้ก่อตั้ง ถึงรายละเอียดและข้อสงสัยที่ต้องการทราบเพิ่มเติมได้ ผ่านช่องทางที่ Funding Portal เตรียมไว้ให้ หากสนใจก็สามารถระบุจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนได้เลย

เมื่อช่วงเวลาระดมทุนสิ้นสุดลง ก็จะมีกระบวนการดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มรายชื่อผู้ถือหุ้นเข้าเป็นเจ้าของร่วมของบริษัทต่อไป (ตามกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนธุรกิจทั่วไป)


5. หน่วยงานรัฐ เข้ามากำกับดูแลอย่างไร ?

ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบน Equity Crowdfunding Platform นี้ ถือเป็นกระบวนการออกและจำหน่าย “หลักทรัพย์” ให้กับประชาชนทั่วไปรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” หรือ กลต.

ซึ่ง กลต. คงไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบ “แผนธุรกิจ” ของแต่ละบริษัทได้ทั่วถึงว่าจริงเท็จและเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ กลต. เข้ามากำกับดูแลเป็นหลักคือ

  1. ออกประกาศและกฎระเบียบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นระเบียบที่พยายามจะหา “สมดุล” ระหว่างการส่งเสริมธุรกรรมนี้ (กลต. ให้ความสำคัญกับ Equity Crowdfunding มาก) ควบคู่ไปกับการ “คุ้มครอง” นักลงทุน ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป (ส่วนจะทำได้ดีแค่ไหนนั้น ต้องดูกันต่อไปนะครับ)
  2. มุ่งกำกับดูแล “Funding Portal” ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องของระบบงานภายใน เช่น ต้องมีระบบงานที่ให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลได้มากเพียงพอ และต้องมีการจัดการเงินที่อยู่ในระหว่างการระดมทุนให้เหมาะสม (แยกบัญชีเป็นสัดเป็นส่วน) ซึ่ง Funding Portal ทุกราย ต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงาน กลต. ก่อน จึงจะเปิดให้บริการได้
  3. มุ่งดูแลผู้ลงทุน “รายย่อย” โดยมีแนวคิดว่า “หากการลงทุนผิดพลาด รายย่อยไม่ควรจะเสียหายเยอะ” ดังนั้นจึงมีการกำหนด “วงเงินลงทุนขั้นสูง” ให้กับนักลงทุนรายย่อยแต่ละคน เบื้องต้น (ขอให้ติดตามประกาศอย่างเป็นทางการประมาณสิ้นปี 2015 นี้) รายย่อยจะลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ไม่เกิน 50,000 บาท และภายในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถลงทุนเงินใน Equity Crowdfunding รวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท พูดง่ายคือ ต่อให้เจ๊งจาก Equity Crowdfunding จนหมดหน้าตัก ก็จะเสียหายไม่เกิน 500,000 บาทนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “รายใหญ่” จะสามารถลงทุนได้มากกว่านั้น ซึ่งสำนักงาน กลต. ก็จะมีเกณฑ์กำกับอีกทีหนึ่งว่า “ใครคือรายใหญ่ ?” เบื้องต้น (เท่าที่ผมจดทัน) คือ มีพอร์ตลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือ มีรายได้ต่อปีมากกว่า 4 ล้านบาท


6. ยังไม่ค่อย Get ว่าประโยชน์มันขนาดไหน ?

สำหรับผม… มันมีประโยชน์มากๆๆ

ในมุมบริษัทที่ระดมทุน (Issuer)

  1. บริษัทขนาดเล็ก SMEs, Startups มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงเงินทุน แทนที่จะต้องมารอ ก็อาจสามารถหาเงินทุนมาทำธุรกิจได้เลย
  2. กระบวนการ “เตรียมตัว” เพื่อระดมทุนบน Funding Portal จะช่วยให้บริษัทตั้งใหม่ ต้องย้อนคิดถึงรายละเอียดต่างๆ ในทุกแง่มุมของแผนธุรกิจได้ละเอียดรอบคอบขึ้น เพราะรอบนี้ไม่ใช่แค่รู้เรื่องเองคนเดียว แต่ต้องสามารถเล่าให้คนอื่นเข้าใจ และยังต้องโน้มน้าวให้เชื่อมั่นและร่วมลงทุนด้วย
  3. กระบวนการ “ขายตัวเอง” บน Funding Portal จะช่วย “ทดสอบตลาด” ให้กับบริษัทได้ในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจที่คิดจะทำมัน “เป็นไปได้” หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีคนยอมร่วมลงทุนเลย อาจหมายความว่า ยังต้องทำการบ้านเพิ่มอีกเยอะ และยิ่งถ้า “โดนลอก” ไปทำได้ง่ายๆ ก็ยิ่งบ่งชี้ความเสี่ยงของธุรกิจและทีม
  4. กระบวนการ “ตอบข้อซักถาม” บน Funding Portal จะช่วย “ลับคม” ความคิดของทีมผู้ก่อตั้งได้ดีขึ้น อาจได้เห็นแง่มุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรืออาจได้คำแนะนำดีๆ จากว่าที่นักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนในบริษัท

ในมุมนักลงทุน (Investor)

  1. เป็นทางเลือกใหม่ให้สามารถ “กระจายการลงทุน” ได้มากขึ้น
  2. ได้เริ่มลงทุนในธุรกิจ (เป็นหุ้นส่วน) ตั้งแต่วันแรกๆ ของการก่อตั้งกิจการ ซึ่งในอนาคตหากสำเร็จมักมีกำไรมหาศาล เช่น เป็นร้อยหรือพันเท่าตัว
  3. ได้แรงบันดาลใจดีๆ จากการได้รับฟังแนวคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจของบริษัทที่เข้ามาระดมทุนใน Equity Crowdfunding
  4. แม้จะไม่ได้ร่วมลงทุนในวันแรกๆ แต่อาจมีโอกาสได้เข้าลงทุนในวันหลังๆ หากบริษัทดังกล่าว สามารถได้เงินทุนจาก Crowdfunding แล้วเติบโตจนจดทะเบียนเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ในอนาคต
  5. ได้สนับสนุนบริษัทที่มีนวัตกรรมและดำเนินธุรกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม มันมีความเสี่ยงที่รุนแรงมากเช่นกัน (ไม่งั้น กลต. คงไม่จำกัดยอดเงินลงทุนไว้เพียงแค่ 50,000 บาท) เพราะบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ โอกาสเจ๊งสูงมาก ซึ่งเงินลงทุนที่ใส่ไปก็จะสูญไปด้วย โดยเรียกร้องคืนไม่ได้ (เหมือนเข้าหุ้นกับเพื่อนค้าขายแล้วบริษัทเจ๊ง) และ ที่ไม่เจ๊ง ก็ไม่รู้ว่าต้องรอนานแค่ไหนกว่าจะโต อยากจะขายออกก็ขายไม่ได้ คือ มีสภาพคล่องต่ำ แล้วยังต้องลุ้นอีกด้วยว่า ทีมผู้ก่อตั้งที่ได้รับเงินไปจะเชิดเงินหนีหายไปเลยรึเปล่า

เสวนา Equity Crowdfunding

ก่อนจบผมขอยกคำพูดที่ผมชอบมากของคุณ “กระทิง พูนผล” Venture Partner ของบริษัท 500 Startup ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจ Startup ในประเทศไทย ซึ่งร่วมเสวนาในงานวันนี้ด้วย มาให้พิจารณาดังนี้ครับ

Startup คือธุรกิจขนาดเล็ก ที่ออกแบบให้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีความเสี่ยงสูง แต่ก็สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เลย

คุณกระทิงยังบอกด้วยว่า ผู้ที่สนใจธุรกิจ Startup ให้คิดดีๆ

การเป็น Startup นั้น ต้องยอมรับว่า “งานควาย รายได้ไม่ดี แต่โคตรมีอนาคต”
ถ้าจะทำอย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ต้องทำเพราะรัก และเมื่อเป็น Startup ครั้งหนึ่งแล้ว จิตวิญญาณของ Startup จะอยู่กับเราตลอดไป

ส่วนตัวผมเองก็มีปั้นๆ ธุรกิจ Startup เล็กๆ กับทีมงานเล็กๆ กลุ่มหนึ่งอยู่ วันหนึ่งข้างหน้า ไม่แน่อาจต้องใช้บริการ Crowdfunding ก็ได้… แต่ในแง่การลงทุนส่วนตัว เมื่อไรมี Equity Crowdfunding ในไทย ผมจะไปร่วม “ช๊อป” เอ้ย… เป็นกำลังให้ทีมผู้ประกอบการคนไทยดีๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์แน่นอนครับ ^_^

3 COMMENTS

  1. ช่วยเขียนข้อแตกต่างกับคลาดหุ้นให้หน่อยสักเล็กน้อยได้ไหมครับ
    ขอบคุณครับ

    • หลักๆ คือ ขนาดบริษัทในตลาดหุ้น
      มีขนาดใหญ่กว่าบริษัทที่จะระดมทุนใน Equity Crowdfunding เป็นร้อยหรือเป็นพันเท่าครับ
      ธุรกิจก็ค่อนข้างแน่นอนชัดเจนแล้ว โอกาสโตเยอะๆ แบบก้าวกระโดดก็มีน้อย
      ความเสี่ยงก็จะน้อยลงตามไปด้วย กระบวนการในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็ยุ่งยากซับซ้อนกว่ามาก
      มีการตรวจสอบคัดกรองหลายต่อ ไม่ง่ายเหมือน Crowdfunding ครับ

Comments are closed.