ประหยัด 1 บาท = ร่ำรวยขึ้น 1 บาท
(A Dollar Saved is a Dollar Earned)

หลายท่านคงเคยได้ยิน หลักคิดนี้มาบ้าง ซึ่งก็เป็นจริงสำหรับคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการลงทุน แต่สำหรับคนที่ลงทุนเป็นนั้น การประหยัดได้หนึ่ง อาจจะหมายถึงฐานะที่ดีขึ้นหลายเท่าในอนาคตทีเดียว

ผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่เป็นข้อพิสูจน์ของแนวคิดนี้ เพราะในสมัยแรกๆ ของการเก็บออมเงินสู่อิสรภาพทางการเงินนั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องการ “เพิ่มรายได้” มากนัก ที่รู้ก็ได้ทำไปหมดแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ผมยังทำได้เพิ่มคือการ “ลดรายจ่าย” ซึ่งขอถือโอกาสแชร์ให้ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน อะไรเอาไปใช้ได้ก็ใช้ อะไรมันเว่อร์ไป ก็ดูให้เหมาะสมกับ “ความพอใจ” ของเราด้วยนะครับ


จะประหยัดได้… ต้องเริ่มต้นที่แรงบันดาลใจ

สำหรับผมมันคือความอยากมีอิสรภาพทางการเงินเร็วๆ บวกกับความรู้เรื่องดอกเบี้ยทบต้น ยิ่งทำให้ผมตระหนักใน “หน้าที่” ว่าถ้าอยากจะทำให้ฝันเป็นจริงเร็วๆ เราก็ต้อง “เสียสละ” บ้าง

เพราะด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น หากผมประหยัดได้ซักเดือนละ 2 พันบาท แล้วนำเงินนั้นไปลงทุน ซึ่งสมัยนั้นผมเลือกลงทุนในหุ้น โดยหวังผลตอบแทนประมาณ 12-15%

ลองกด App เครื่องคิดเลขการเงินตามลิ้งค์นี้ไปด้วยกันได้ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=Jgjj88SR-GY

ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี
ใน 10 ปีเงินจะโตเป็น 460,000 บาท (ทุน 240,000)
ใน 20 ปีเงินจะโตเป็น 1,978,000 บาท (ทุน 480,000)
ใน 30 ปีเงินจะโตเป็น 6,990,000 บาท (ทุน 720,000)

ยิ่งถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็น 15% ต่อปี
ใน 10 ปีเงินจะโตเป็น 1,520,000 บาท (ทุน 240,000)
ใน 20 ปีเงินจะโตเป็น 2,994,000 บาท (ทุน 480,000)
ใน 30 ปีเงินจะโตเป็น 13,847,000 บาท (ทุน 720,000)

คำนวณออกมาเห็นตัวเลขประมาณนี้ สำหรับผมมันก็ “คุ้มค่า” ที่จะทำแล้ว และอันที่จริง ทำไปทำมา ผมประหยัดได้มากกว่า 2,000 อีกเยอะครับ!


แก่นความคิด… ในการลดรายจ่าย

การลดรายจ่ายของผม ไม่ใช่เอะอะก็ลดไปซะทุกเรื่อง แต่เป็นการพยายาม Balance ระหว่างความสุขในชีวิตไปด้วย ดังนั้น มันจะเน้นการ “เลือก” ใช้จ่าย  ให้ได้ทั้งสุขปัจจุบัน และได้เก็บออมไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งแก่นของความคิดนั้น ผมได้มีการเขียนถึงไปแล้วในบทความชื่อ “ส่วนเพิ่มที่ไม่คุ้มจ่าย” อยากเชิญชวนให้คลิ๊กอ่านที่ http://www.a-academy.net/blog/unjustified-premium/ เพราะมันสำคัญมากๆ ต่อความสำเร็จในวันนี้ของผม (และอาจจะของท่านด้วย)


เริ่มลดรายจ่ายแบบ 360 องศา

เขียนให้มันเท่ห์ๆ ไปอย่างนั้นแหละครับ จริงๆ ก็คือการมองหา “ทางเลือก” ในทุกๆ การใช้จ่ายที่เราจะจ่าย

1. เริ่มจากรายจ่ายประจำเรื่องบ้าน

รายจ่ายประจำรายการแรก ที่เปลี่ยนยาก แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็จะมี Impact มากมาย ไม่ใช่แค่กับเงินที่จะประหยัดได้มากขึ้น แต่ยังได้เรื่องเวลา และสุขภาพจิตด้วย นั่นคือ “รายจ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

ผมเองเป็นเด็กต่างจังหวัด เมื่อก่อนไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ ก็ลองมาหลายอย่างครับ ตั้งแต่หอพักแบบถูกๆ ไปจนถึงเช่าคอนโดแพงหน่อย และมาลงเอยที่อพาร์ทเม้นต์ระดับกลาง ที่เน้นให้คนทำงานเช่าอยู่ ซึ่งไม่วุ่นวาย เหมือนกับที่ที่มีนักศึกษามาอยู่ด้วย

สังเกตว่าไม่มีตัวเลือกในการ “ซื้อบ้าน” เลย สาเหตุก็เพราะผมรู้สถานะตัวเองดีว่า กำลังอยู่ในช่วง “สะสม” เงินทุน การซื้อบ้านเร็วเกินไป จะทำให้เงินทุนส่วนหนึ่งไปจมอยู่ใน “เงินดาวน์” บ้าน และถ้าซื้อก็ต้องกู้ ซึ่งค่างวดบ้านปีแรกๆ หากคำนวณกันจริงๆ ก็แทบจะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยแบงค์ทั้งหมด คือแทบไม่ลดเงินต้นเลย ซึ่งสำหรับผม มันก็ไม่ต่างจากการเช่า

แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่า การมีบ้านคือความมั่นคง แต่สำหรับผมแล้ว ความมั่นคงที่แท้จริงคือการมีทรัพย์สินที่เติบโตได้ ในปริมาณที่พอใช้ และถ้าจะใช้เมื่อไรก็ต้องนำออกมาใช้ได้ไม่ยาก

การเช่านอกจากจะลดค่าใช้จ่ายให้กับผมในช่วงชีวิตที่ต้องการเก็บออมเงินแล้ว ยังให้ “ความยืดหยุ่น” อย่างมาก ทำให้ผมได้ทดลองใช้ชีวิตหลายๆ แบบ จนค้นพบว่า จริงๆ แล้วการตัดสินใจเลือกที่อยู่ มันไม่ได้กระทบแค่เรื่องเงิน แต่มันจะกระทบเรื่องอื่นด้วย เช่น

  • ค่าเดินทาง
    หอพักถูกๆ บางทีก็อยู่ไกล และมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่ามอเตอร์ไซต์รับจ้าง ซึ่งถ้านั่งกันจริงๆ ไป-กลับ 1 เดือน จะตกเป็นเงินร่วม 500 ถึง 1,000 บาท ซึ่งมาพร้อมๆ กับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดได้ในทุกๆ วัน แถมบางที ยังต้องนั่ง Taxi ซึ่งยิ่งแพงกว่า และหาลำบาก
  • เวลาที่ใช้เดินทาง
    บางแห่งที่ผมเคยอยู่ ใช้เวลาเดินทางกว่าจะถึงที่ทำงานร่วม 2 ชั่วโมง ขณะที่บางแห่งใช้แค่ 45 นาที – 1 ชม. ส่วนต่างของเวลานี้ เราเอามาใช้ทำอะไรได้อีกมากมายครับ โดยเฉพาะสำหรับผมในยุคแรกๆ คือการได้เอาเวลาที่ประหยัดได้ มาศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุน และการพัฒนาตัวเอง
  • ความสะดวกสบาย
    ผมเป็นคนติดสบาย เลือกที่พักราคาถูกมากเกินไป ก็อยู่ยาก และไม่มีความสุข ผมเคยหนีไปลองเช่าคอนโดดีๆ อยู่ ก็พบความจริงใหม่ว่า แพงไป ก็ใช้ว่าจะสบายอะไรมากมาย ส่วนต่างของเงินตรงนั้น ไม่ค่อยคุ้ม หาไปเรื่อยๆ ก็ได้พบว่า ที่ที่ “พอดี” นั้นมีจริง

ท้ายที่สุด ผมก็ได้ที่อยู่ที่ “สุดยอด” เป็นอพาร์ทเม้นต์ของคนทำงาน ที่เดินไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์ หรือรถสองแถวเพิ่ม แม้จะไม่ไกล้สถานีแบบคอนโดที่เคยเช่าแพงๆ แต่ก็อยู่ในระยะเดินที่เหงื่อไม่ทันออก

ลำพังการตัดสินใจนี้ ผมประหยัดเงินได้ร่วมๆ 4,000 บาท หรือประมาณปีละ 50,000 บาท พร้อมกับได้เวลาเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 2 ชั่วโมง คือหกโมงครึ่งผมก็ถึงบ้านแล้ว

2. ไม่รีบซื้อรถ

การซื้อรถเร็ว จะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาล เพราะรถราคาถูกๆ แบบ Eco Car ธรรมดา ค่างวดก็ซัดไปอย่างน้อย 8,000 บาท/เดือน ยังไม่รวมค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน
และค่าวิถีชีวิต ที่คนมักจะเดินทางมากขึ้น เมื่อมีรถใช้

ผมใช้ MRT อยู่หลายปี มีค่าใช้จ่ายเดือนหนึ่งแค่ไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้ได้ส่วนต่างหลายพันบาทมาลงทุน ผนวกกับการเลือกที่อยู่ที่ดี การไม่มีรถก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร และจริงๆ และ การโดยสารรถสาธารณะก็มีข้อดี คือไม่ต้องขับเอง ทุกๆ เช้า ผมจะติดอะไรใส่มือ ขึ้นไปอ่าน ไปฟังบน MRT เสมอ นั่นเท่ากับได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มอีก วันละเป็นชั่วโมงๆ การวิเคราะห์หุ้นที่ผมลงทุน ก็เกิดบนรถ MRT นั่นล่ะครับ

3. รายจ่ายประจำอื่นๆ ที่ใช้ไม่คุ้มจ่าย

ตรงนี้ ต้องช่างสังเกตนิดนึง เพราะบางรายการอาจปรับไม่ได้ ลองมาดูกันครับ ว่ามีอะไรให้ปรับบ้าง

  • แพ็คเก็จรายเดือน โทรศัพท์มือถือ
    เราใช้แค่ไหน ลองดูดีๆ นะครับ เดี๋ยวนี้แพ็คเก็จสูงๆ ราคาประมาณ 700-1000 บาท ขณะที่แพ็คเก็จที่ไม่แพง ราคา 300-500 บาท ปรับดีๆ ประหยัดเงินได้ครึ่งพันเลยครับ หรือบางทีเปลี่ยนมาเป็นแบบเติมเงิน ก็อาจจะประหยัดได้อีก
  • แพ็คเก็จอินเตอร์เน็ต
    ผมว่าน้อยคนจะปรับได้ เพราะส่วนใหญ่ใช้แพ็คต่ำสุดกัน แต่ถ้าใครใช้แพ็คสูงๆ อยู่ ก็จะพบว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว สมัยก่อนแพ็คต่ำๆ ยังช้า สมัยนี้แพ็คต่ำๆ ก็สามารถดูวิดีโอ Streaming แบบ HD ความละเอียดสูง 1080p ได้สบายๆ ปรับลงมาได้ก็จะประหยัดได้อีกหลายร้อย
  • แพ็คเก็จเคเบิ้ลทีวี
    ลองดูว่าจำเป็นมั๊ยนะครับ ผมคิดว่าไม่ควรต้องเสีย หลายๆ อย่างเราดูผ่านอินเตอร์เน็ตได้ ผมเห็นบางครอบครัว เสียค่าแพ็คเก็จเดือนละเป็นพันก็มีครับ
  • รายจ่ายประจำอื่นๆ เช่น วารสาร ฟิตเนส ประกัน ฯลฯ
    คนเรามีนิสัยอย่างหนึ่งคือ “เมื่อสมัครอะไรไปแล้ว จะไม่ค่อยเปลี่ยน” วารสารหรือหนังสือพิมพ์ที่เราบอกรับไว้เป็นรายปี บางทีก็ไม่ค่อยได้อ่านแล้ว ค่าฟิตเนสที่ไม่ค่อยได้ไป แต่สมัครไว้เพราะคิดว่าจะไป หรือคิดว่าคุ้ม เบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 ซึ่งตลอดมาแทบไม่เคยได้เคลม บางเรื่องปรับลดลงได้ หรือเลิกไปเลย จะทำให้มีเงินมาออมเยอะขึ้นอย่างมาก อย่างการลดประกันรถจากชั้น 1 มาเป็น 3+ เนี่ย จะประหยัดเงินได้อย่างน้อยๆ ก็ครึ่งหมื่นเลย

4. ค่าใช้จ่ายซื้อความสุขในชีวิต

สำหรับผมเริ่มตั้งแต่ค่าไฟครับ เพราะผมเป็นคนขี้ร้อนมาก ขาดแอร์ไม่ได้ แต่ผมก็ค้นพบอย่างหนึ่งว่า เราไม่ได้ต้องการแอร์ทั้งคืนหรอก เดี๋ยวก็หลับไม่รู้เรื่องแล้ว สิ่งที่ผมทำมาตลอดก็คือ ตั้งเวลาปิดแอร์ไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากเวลาเข้านอน (แต่ผมยังต้องเปิดพัดลมแช่ไว้ทั้งคืนนะครับ ยังขี้ร้อนอยู่) แค่ทำแค่นี้เดือนหนึ่งๆ ก็ประหยัดค่าไฟได้ร่วมๆ 200 บาท

เวลาผมไปกินข้าวตามร้านอาหารนอกบ้าน หากเลือกได้ก็มักจะสั่งพวก Value Set หรือ Combo Set ที่ถูกหน่อย อย่าง Sizzler เนี่ย ผมไม่เคยสั่งเมนูอื่นเลย นอกจาก Value Set กับ Salad Bar

บางท่านอาจจะมองว่า จะใช้ชีวิตตึงไปรึเปล่า ผมว่ามันอยู่ที่ความพอใจของเรานะครับ ไม่ใช่การตัดสินของคนอื่น สิ่งที่ผมกิน แม้มันจะไม่แพงเท่าคนอื่น แต่ผมก็อร่อยของผม ทุกคนที่มองหน้าผมเวลากินอะไร ก็จะบอกตรงกันว่า ผมกินอะไรก็ดูอร่อยไปหมด และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันอร่อย ก็คือ เรากินด้วยความสำนึกและรู้ตัว ว่าทำไมเราถึงกินแค่นี้ นั่นเพราะเรามี “หน้าที่” อื่นที่ต้องทำอยู่ คือการทำความฝันของเราให้เป็นจริง มันทำให้เราต้อง “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” (ซึ่งสุดท้าย เรากลายเป็นติดของเปรี้ยวไปซะนั่น)

ผมเคยอ่านหนังสือบางเล่ม ที่บอกว่าถ้าอยากรวย เราต้องก้าวข้ามเรื่องราคาไปให้ได้ เวลาสั่งอะไร ให้สั่งที่อยากกิน อย่าไปมองที่ราคา ไม่งั้นเราจะไม่ดึงดูดเงิน และจะต้องอยู่แบบจนๆ อย่างนี้ตลอดไป

ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า ถ้าผมทำแบบนั้น ผมจะมาถึงวันนี้มั๊ย ? หรือจริงๆ แล้วถ้าผมทำแบบนั้น ผมจะไปได้ไกลกว่านี้ ?


ดอกผลอันเกิดจากความมุมานะพยายาม มันหอมหวาน!

ด้วยความตั้งใจ และความมุ่งมั่น ทำให้ผมสามารถเก็บออมได้ในสัดส่วนที่สูงมาก คือออมร่วมครึ่งหนึ่งของเงินเดือน และเกือบทั้งหมดของโบนัสในแต่ละปี

ขณะเดียวกัน เราก็แสวงหาวิธีพัฒนาตัวเอง และพัฒนาทักษะการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ทั้งของตัวเอง และของทรัพย์สินที่เราลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ผลคือเราก็หาเงินได้มากขึ้น เก็บออมได้มากขึ้น เงินลงทุนก็โตได้เร็วขึ้นทุกๆ วัน

10 ปีเศษๆ ผ่านไป เรือก็เทียบท่าเข้ากับชายฝั่งที่เราฝันมานาน และเป็นการเข้าเทียบท่าที่เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้หลายสิบปี มองย้อนกลับไป มันมีแต่ความภาคภูมิใจ ความเคารพและชื่นชมตัวเอง ที่เราอดทน ตั้งใจทำมาได้ถึงขนาดนี้ ^__^

เพราะจริงจังกับการทำเหตุ ผลลัพธ์มันถึงออกมาจริงจังด้วย

ทุกวันนี้ วันที่จะกินแพงก็ได้ จะใช้ของแพงบ้างก็ได้ เรากลับมีความสุขกับสิ่งที่เราทำมาตลอดไปเสียแล้ว เรายังเป็นคนที่ซื้อเสื้อผ้า กางเกง เข็มขัด รองเท้า ตามห้างโลตัส กินข้าวราดแกงข้างทาง กินกาแฟสดแก้วละ 30-40 บาท ใส่รองเท้าแตะคู่ละ 79 บาท ไม่ใส่นาฬิกาข้อมือ (เพราะติดดูในมือถือ) แทบไม่รู้จักของแบรนด์เนมอะไรเลย สั่งอาหารอิตาเลี่ยน/อาหารฝรั่งก็ไม่เป็น ยังมีความสุขกับบุฟเฟ่ต์เถื่อนๆ ระดับล่างๆ ทุกครั้งที่ได้ไป ไปเจอเพื่อนๆ ทีไร ต้องมีคนบอกให้เราเอาเสื้อที่ใส่ไปทิ้งได้แล้ว มันเก่าจะตาย เรากลับรู้สึกว่า “เฮ้ย นี่มันตัวเก่งกูเลยนะ” ยังใส่ได้อยู่เลย 🙂


นี่ล่ะครับ เส้นทางชีวิตผมที่เกี่ยวกับการประหยัดอดออมในช่วง 10 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา อาจจะเว่อร์ๆ ตึงๆ ไปบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกไปครับ คนเรา “พอใจ” ต่างกัน ลอง “ออกแบบชีวิต” ตัวเองให้มันมีความสุขจะดีกว่าครับ

ขออย่างเดียวว่า ช่วยมองความสุข ให้กว้างๆ เพราะถ้าสุขวันนี้มากไป วันหน้าก็จะยาก ถ้าสุขวันหน้ามากไป ก็จะผ่านวันนี้ไปถึงวันหน้าลำบากเช่นกัน

ปล. ผมโชคดีครับ ที่ไม่ได้แตะอบายมุขอะไรเลย ทั้งบุหรี่ เหล้า การพนัน ฯลฯ ในบทความข้างบน จึงไม่จำเป็นต้องลด หรือเลิกอะไรพวกนี้ แต่ถ้าท่านใดมีหรือทำพวกนี้อยู่… โตๆ กันแล้ว คงไม่ต้องให้สอนหรอกนะครับ

5 COMMENTS

  1. บทความนี้ทำให้ได้ข้อคิดดีๆเยอะเลยครับ

    ทำให้นึกถึงหนังสือ รวยด้วยกระเป๋า… ผมตอนอ่านก็สงสัยว่า เราควรจะจ่ายค่ากระเป๋าเงินให้แพงๆเพราะมันจะทำให้เราเป็นคนมีรายได้มากขึ้นจริงหรือ ?

    คิดว่าสุดท้ายเรื่องเงินคงขึ้นกับนิสัย บางคนเก่งหา บางคนเก่งออม คงต้องทำตามความถนัดของตนไป

  2. เยี่ยมเลยครับ เป็นบทความที่มีประโยชน์มาก ขออนุญาติแชร์ให้น้องๆที่ทำงานอ่านกันเยอะๆนะครับ
    แต่ละคนก็หลากหลายความคิดและความต้องการ ต้องนำสาระนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนเอง
    จะติดตามผลงานต่อไปนะครับ

  3. ขอบคุณค่ะ ทำอยู่เหมือนกัน

    ดีใจที่ตัวเองถูกหล่อหลอมมาให้แบบนี้ค่ะ

  4. เยี่ยมครับ ถ้าคนทั่วไปทำได้ซักครึ่งหนึ่งของคุณก็สุดยอดแล้วครับ

  5. คนโตๆ กันแล้วนี่ยิ่งสอนยากนะคุณเอ
    บางคนก็ตกหลุมพลางความสำเร็จ คิดว่าไม่ต้องให้ใครมาบอกมาสอน
    บางคนก็ฟิกไอเดีย สมองเป็นออโตเมติก หรืออนุรักษ์นิยม เคยทำแบบไหนก็จะทำแบบนั้นต่อไป

    เงินถือเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งยั่วยวนใจอย่างหนึ่ง ใครมีเงินก็อยากจะใช้จ่ายเงินเพื่อแสวงหาความสุข
    ในขณะเดียวกันเงินก็สามารถเติบโตได้จากการใช้มันทำงาน
    คนเราสามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นๆ เรื่อย ๆ ตามวันเวลาได้
    ถ้าใครนำเงินมาใช้จ่ายก่อน เงินก็เติบโตไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่นำเงินมาใช้จ่าย ปล่อยให้เงินทำงานและเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ นานวันเราก็จะได้รับประโยชน์จากเงินมากกว่า เปรียบดังสุภาษิตของไทย “ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน “
    แต่ความเย้ายวนใจของความสุขจากเงิน จะมีใครสักกี่คนที่ทำได้
    เงิน! ใครมีก็อยากจะใช้จ่ายแสวงหาความสุข
    ดุจดั่งมะม่วงผลเล็กๆ บนต้น ใครเห็นก็น้ำลายไหล อยากจะเด็ดมากินเสียนี่กระไร ทั้งที่เราทุกคนต่างก็รู้ว่า ถ้าปล่อยให้ผลมะม่วงเติบโตต่อไป ผลมะม่วงจะโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้รับประโยชน์มากกว่าเด็ดมากินในขณะที่มันผลยังเล็กอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรอ ห้ามใจตัวเองไม่ได้ อดกลั้นใจไม่ไหว
    เรื่องของเงินก็เช่นกัน เป็นความเย้ายวนใจให้ใช้จ่ายอย่างที่สุด คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถหักห้ามใจให้ใช้จ่ายเงินได้
    ฉะนั้นเราควรฝึกการหักห้ามใจตัวเองให้มากๆ อย่าเพิ่งซื้อ, รอก่อน, ซื้อวันหลังก็ได้ เตือนสติตัวเองให้มากๆ พยายามมองอะไรให้ไกลๆ คิดถึงอนาคตให้มากๆ
    พวกเราควรเลียนแบบพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้สำเร็จเป็นสมเด็จพระอรหันต์ พระองค์ต้องต่อสู้กับบรรดากิเลสทั้งมวล ทั้งหญิงงามที่ใครเห็นแล้วไม่อาจปฏิเสธ ทั้งทรัพย์สมบัติและสิ่งอื่นๆ ที่จะนำมาซึ่งความสุขจำนวนมากมาย ถ้าหากพระองค์ทรงหักห้ามใจตนเองไม่ได้ พระองค์ก็ทรงตรัสรู้ไม่ได้
    เช่นเดียวกัน ถ้าคุณหักห้ามใจไม่ใช้จ่ายเงินได้ คุณก็รวยได้
    คุณจะรวยหรือจน เป็นการต่อสู้กับจิตใจของคุณเอง คุณจะยอมแพ้ต่อตนเองหรือชนะตนเอง ?
    คุณยินยอมลงทุนทนทุกข์มากในระยะแรก คุณก็จะมีความสุขมากในภายหลัง
    บางคนร้ายยิ่งกว่านั้นคือ นอกจากมีเงินจะต้องใช้จ่ายให้หมดแล้ว ยังไม่พอ เขายังไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ไม่อาจหักห้ามใจต่อกิเลสที่มาเย้ายวนอยู่ตรงหน้าได้ รีบยื่นมือไปไขว่คว้ามาบำรุงความสุขของตนทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเงิน โดยการใช้เครดิตของตนยืมเงินคนอื่นมาใช้จ่ายก่อนหรือใช้จ่ายด้วยเงินผ่อน
    เรียกว่า นอกจากไม่ทำอะไรเพื่ออนาคตแล้ว พวกเขายังไปเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อนอีก
    “ ทำมาหากินได้เงินมาแล้วใช้จ่ายเงินหมด ไม่มีเงินเก็บ ไม่รวย “
    “ นำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อน ยิ่งจนมากขึ้น “
    การไปเอาเงินอนาคตมาใช้จ่ายก่อน จะมีอนาคตได้อย่างไร เงินที่ยืมเขามาใช้จ่ายก่อน ไม่ได้มีแค่หนี้สินแต่เพียงเงินต้นเท่านั้น คุณยังต้องเสียดอกเบี้ยให้เขาอีกด้วย
    แทนที่จะเก็บเงินนำไปแสวงหาดอกผลเพื่อให้รวย กลับทำตรงกันข้าม
    คำตรงข้ามกับคำว่า “ รวย “ คือ “ จน “
    ฉะนั้นการใช้ชีวิตที่ตรงข้ามกับการใช้ชีวิตที่จะทำให้ “รวย” ก็คือ “จน” นั่นเอง

Comments are closed.