สอบถามเรื่องสับเปลี่ยนกองทุน RMF ค่ะ
ต้องการสับเปลี่ยนกองทุนจากตราสารหนี้เป็นตราสารทุน (หุ้น)
ควรสับเปลี่ยนกองทุนตอนดัชนีหุ้นขึ้นหรือลงค่ะ ?


คำตอบ

คำถามลักษณะนี้เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อยที่สุดเลยครับ
ท่านใดที่มีคำถามลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกับกองทุนประเภทไหน
ทั้ง LTF, RMF, กองทุนหุ้น ที่เกี่ยวกับการหาจังหวะเข้าลงทุน
สามารถอ่านแนวทางจากคำตอบนี้ได้ไปพร้อมๆ กันเลยนะครับ

ผมขอตอบเป็น 2 กรณีครับ


กรณีที่ 1 : สับเปลี่ยนเพื่อหวังผลระยะสั้น

เช่นตั้งใจว่าต้องการซื้อ ณ ราคาถูกๆ และเมื่อผ่านไปสักระยะ เมื่อดัชนีปรับขึ้น
ก็จะขายหรือทำการสับเปลี่ยนกลับไปยังตราสารหนี้ เพื่อเป็นการรับรู้กำไร

กรณีอย่างนี้ “ผมไม่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ครับ
ส่วนตัวผมเองนั้น ไม่มีการทำสิ่งนี้เลย คือผมซื้อหุ้นเมื่อมีเงินออม หรือเมื่อต้องการลงทุนในหุ้น
และขายเมื่อต้องการใช้เงิน หรืออยากไปลงทุนอย่างอื่นเท่านั้น
(นั่นเพราะผมลงทุนหุ้นกับ เฉพาะกับเงินที่อยู่ได้ยาวเท่านั้น)

และอยากให้ข้อเท็จจริงด้วยว่า การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แม้จะมีคนทำได้
คือสับเปลี่ยนแล้วถูกจังหวะบ่อยๆ สม่ำเสมอ (ถูกมากกว่าผิด) แต่ก็เป็นอะไรที่ต้องฝึกฝน และมีวินัยอย่างมาก

หากสนใจเทคนิคการลงทุนลักษณะนี้
ผมแนะนำให้ลองศึกษาเรื่อง การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ดูครับ

วิธีศึกษาที่ผมแนะนำ คือให้เริ่มจาก หลักสูตรฟรีของ TSI
http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=2215&Itemid=1805

และสามารถอ่าน Ebook “คู่มือการวิเคราะห์ทางเทคนิค” โดยคุณสุรชัย ไชยรังสินันท์ ประกอบ
โดยดาวโหลดอ่านได้ฟรีที่นี่ครับ
http://inv5.asiaplus.co.th/cms/index2.php?sc=asp_educationzone-analyze


กรณีที่ 2 : สับเปลี่ยนเพื่อหวังผลระยะยาว

สำหรับกรณีนี้คือการที่เราตั้งใจจะย้ายมาลงทุนในหุ้น และเมื่อย้ายมาแล้ว หรือเมื่อซื้อหุ้นแล้ว ก็ตั้งใจจะถือลงทุนระยะยาว

ในกรณีนี้ก็ต้องเช็คระยะเวลาการลงทุนให้ดีครับ ว่าเงินก้อนที่เราย้ายมาหุ้นนี้ อยู่ได้ยาวหรือไม่ ?

หากอ้างอิงจากสถิติในบทความนี้
http://www.a-academy.net/blog/stock-risk-vs-time-horizon/

ระยะเวลาที่พอจะอุ่นใจได้ว่าถือหุ้นไปแล้วไม่น่าจะขาดทุน คือประมาณ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวมากครับ
สาเหตุก็เพราะในช่วงที่เก็บสถิตินั้น มีวิกฤติใหญ่ๆ ที่ทำให้หุ้นตกต่อเนื่องเป็นเวลา 4-5 ปีอยู่ถึง 2 รอบด้วยกัน

แต่หากไม่เกิดวิกฤติใหญ่ขนาดนั้น แล้วเกิดแต่วิกฤติเล็กๆ ที่ทำให้หุ้นตก 1-2 ปี แล้วก็ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนตัวผมคิดว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในกรณีนี้ คือประมาณ 7-10 ปีขึ้นไป (สั้นลงหน่อยนึง)

ดังนั้น ให้ตรวจสอบ ระยะเวลาการลงทุนของเงินก้อนนี้ก่อนครับ
ว่าเราลงทุนได้ตั้งแต่ 7-10 ปี หรือ 15 ปีขึ้นไปหรือไม่

หากลงทุนยาวแบบนี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรจะสับเปลี่ยนมาเป็นหุ้นตั้งแต่แรก
หรือถ้าจะเสี่ยง ก็แบ่งเงินมาแต่เพียงส่วนที่ยอมให้เสียหายได้เท่านั้น


ถ้าเช็คแล้ว ลงทุนยาวได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำ จะเข้าซื้ออย่างไร ?

ปกตินั้น ถ้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจแย่ๆ ซึ่งหุ้นได้ตกมาสัก 20-30% หรือมากกว่านั้นแล้ว
การจะซื้อทีเดียวทั้งหมดเลย ก็พอจะทำได้ ก็ถือว่าเป็นการไปซื้อเอากลางวิกฤติ
แม้ซื้อไปแล้วหุ้นอาจจะตกต่อ ก็คงไม่มากแล้ว

แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน (2 ก.ย. 57) คงต้องบอกว่า ไม่ใช่ช่วงที่หุ้นถูกแน่ๆ เพราะหุ้นขึ้นมาต่อเนื่องหลายปี
การจะซื้อโครมเดียวหมดเลย ก็จะเป็นอะไรที่เสี่ยง โอกาสผิด มากกว่าถูก

ถ้าเป็นผม ซึ่งไม่ได้เชี่ยวชาญ และไม่ได้เก่งกาจเรื่องการ “จับจังหวะลงทุน” ผมจะทำแบบนี้ครับ

1. ผมจะไม่ลงทุนทั้งก้อนทีเดียว แต่จะทยอยเข้าลงทุนทันที

ที่ต้องเริ่มเลย เพราะไม่อยากจะเสียโอกาสหากหุ้นไม่ตกตามที่คิด
ส่วนที่ไม่ลงทุนทีเดียวทั้งหมด ก็เพื่อบริหารความเสี่ยง

2. เวลาที่ใช้ทยอยซื้อ ผมจะกำหนดไว้ยาวหน่อย

เช่น 3-6 เดือนหรือยาวกว่านั้นก็ได้ โดยระหว่างนี้ก็อาจทยอยซื้อทุกสัปดาห์ ทุกครึ่งเดือน หรือ ทุกเดือน
แบบที่ไม่ต้องไปกะเก็งจังหวะอะไรมาก อาจจะเซ็ทไว้เลยก็ได้ว่า จะซื้อทุกวันที่เท่าไร เป็นต้น

ที่เว้นเวลาไว้ยาว เพื่อต้องการทำสิ่งที่เรียกว่า Time Diversification หรือ Cost Diversification
คือเฉลี่ยต้นทุนของเงินที่จะเข้าลงทุนก้อนนี้ ไม่ให้ไปกระจุกอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป
ซึ่งก็หวังว่าใน 3-6 เดือนนี้ เราจะได้ต้นทุนกลางๆ ต้นทุนหนึ่ง ที่ดีพอจะทำให้เราเริ่มต้นถือลงทุนยาวๆ ได้แบบสบายใจ

3. ระหว่างที่ทยอยลงทุนนั้น หากตลาดปรับลงมากผิดปกติ

ผมยังสามารถหยุดการทยอยซื้อไว้ชั่วคราว รอจนตลาดเริ่มทรงตัวได้ ก็ค่อยดำเนินการซื้อต่อไป
โดยอาจซื้อมากขึ้นกว่าอัตราเดิมก็ได้ เพราะถือว่าได้ซื้อหุ้นถูก

ขอให้อ่านแนวทางในบทความนี้ประกอบ จะพอช่วยเรา identify ได้ว่า หุ้นตกขนาดไหน เรียกว่าผิดปกติ
http://www.a-academy.net/blog/what-to-do-if-crisis-ahead/


จะเห็นว่า วิธีการที่ผมแนะนำนั้น ไม่ใช่วิธีที่พิศดารอะไร
แต่เป็นวิธีของคนที่ “ไม่เก่ง” และ “ไม่สามารถคาดการณ์ตลาดหุ้นได้
เราจึงเน้นไปที่การบริหารความเสี่ยง เพื่อลดโอกาส การพลาดไปซื้อเอาที่ราคาสูงเว่อร์ๆ เป็นหลัก

มันคงไม่ให้ผลเลิศอะไร แต่จะสร้างความสบายใจในการลงทุนได้
อยากให้ลองไตร่ตรองประกอบดูครับ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

แต่หากไม่เห็นด้วย ก็ยังมีวิธีแบบอื่นๆ ให้เลือกใช้ได้
ซึ่งต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากผู้รู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมก็ยังนึกไม่ออกครับ ว่าจะไปหาใครดี
อาจจะต้องกลับไปหาความรู้เรื่อง Technical Analysis แทน

แต่ต้องเตือนอีกครั้ง ว่าคนจำนวนมากที่ใช้ Technical Analysis
ก็คาดการณ์เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เสมอไปหรอกนะครับ
หรือแม้จะคาดได้ ก็อาจไม่มีวินัยพอที่จะทำตามสัญญาณการซื้อขายได้

ขึ้นชื่อว่าการลงทุนนั้น มีความไม่แน่นอนเสมอครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here