หลายท่านคงเคยได้รู้จักแนวคิดเรื่อง “น้ำครึ่งแก้ว” มาบ้างนะครับ
แนวคิดนี้พูดถึงการเลือกมุมมองที่เหมาะสม เพื่อจะทำให้ใจเป็นสุขได้ง่ายขึ้น

น้ำในแก้วก็เปรียบเสมือนกับสิ่งที่เรามี
ไม่ว่าจะเป็นเงิน เป็นชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นสังคมและผู้คนที่อยู่รอบข้าง ฯลฯ

แก้วก็เปรียบเหมือนกับความต้องการของเรา
เราอยากมี อยากเป็น อยากจะได้ในขอบเขตแค่ไหน ขนาดของแก้วก็ปรับไปตามนั้น

หลักการ “น้ำครึ่งแก้ว” นี้ ดั้งเดิมก็จะเพ่งมองไปที่ “น้ำในแก้ว” จาก 2 มุมมอง

มุมมองแรก คือการมอง “ส่วนที่ขาด”
ก็จะเห็นว่าเรายังขาดน้ำไปอีกตั้งครึ่่ง (Half Empty)
ดังนั้นสภาวะทางใจของคนที่มองโลกในมุมมองนี้ ก็จะรู้สึกว่าตนเป็นคนที่ “ขาด”
เค้าก็จะมีแรงจูงใจที่แสวงหาสิ่งต่างๆ อยู่ตลอด
มีความสุขอยู่กับปัจจุบันได้ยากกว่า คนที่มองแบบที่สอง

เพราะมุมมองที่สองนั้น เน้นมอง “ส่วนที่มี” 
จากมุมมองนี้ก็จะเห็นว่า เราเองก็ไม่ได้แย่ ก็ยังมีน้ำอยู่ตั้งครึ่งหนึ่ง (Half Full)
คนที่ฝึกมองโลกมุมมองนี้ก็จะพบว่า ที่เรามีนั้นแม้อาจจะน้อย แต่ก็ยังมีอยู่
เริ่มมองโลกกว้างขึ้น เริ่มเห็นคนที่ด้อยกว่าตน และสุขกับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

จะเห็นว่า “ปริมาณน้ำ” ที่เท่ากัน ก็ทำให้คนมีความสุขได้ต่างกันแล้ว!

จะ “หาน้ำเพิ่ม” หรือปรับ “ขนาดแก้ว”

อย่างไรก็ตาม ที่ผมอยากจะชวนคิดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ก็เพราะว่า
คนทั้งสองกลุ่มนั้น แม้จะมีมุมมองต่างกัน สุขทุกข์ต่างกันบ้าง
แต่ความเป็นจริงข้อหนึ่งก็คือ พวกเค้าทั้งสองกลุ่ม
ก็ยังมีน้อยกว่าที่อยาก คือยัง “ขาด” อยู่นั่นเอง

ผมจึงอยากจะเพิ่มอีกมุมมองหนึ่งให้ทุกท่านลองคิดตามก็คือ
นอกจากการเพ่งมองที่น้ำในแก้ว เราอาจจะสามารถมองที่ “ขนาดแก้ว”
หรือขนาดความต้องการของเราได้ด้วย

การหาน้ำมาเติมนั้น เป็นงานภายนอก ซึ่งต้องใช้ความมุ่งมั่น
ใช้ความพยายาม มีความไม่แน่นอนสูง เพราะต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจ จังหวะเวลา ทุนทรัพย์ ความรู้เฉพาะทาง ฯลฯ

แต่การ “เปลี่ยนแก้ว” หรือ “การปรับขนาดแก้ว” นั้น เป็นงานภายใน
เป็นการปรับความคิดความอยากของตน โดยอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยมาก
ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือการมุ่งปรับให้ “ขนาดความอยาก” ของเรานั้น “เล็กลง”
ซึ่งผมคิดว่าสามารถทำได้เร็วกว่าการแสวงหาจากภายนอก

ผมเคยพบเจอผู้คนที่มีขนาดของความต้องการที่ “ใหญ่”
ที่เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็ “เปลี่ยนแก้ว” ใบที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่อเป้าใหญ่ขึ้น ก็บรรลุได้ยากขึ้นไปอีก
แม้จะมีอะไรต่างๆ มากมาย แต่ความสุขที่เกิดขึ้นในใจ
ไม่รู้ว่าจะพอชดเชยความเหนื่อย ความเครียด จากการแสวงหาไม่สิ้นสุดมั๊ย ?

ขณะเดียวกัน ผมก็เคยพบเจอผู้คนที่มีความต้องการแบบ “พอเพียง”
พวกเค้าไม่เสียเวลานานไปกับการแสวงหา เค้ารุ้ว่าเท่าไหร่เค้าจะเพียงพอ
หาอย่างพอประมาณ และมีเหตุผล คนเหล่านี้ก็สามารถจะเกษียณตัวเอง
ออกจากความต้องการที่ไม่สิ้นสุดได้เร็วขึ้น

ลองสังเกตนนะครับ ว่าผมไม่ได้บอกว่าเค้าเกษียณตัวเองออกจากงาน
หรือมีอิสรภาพทางการเงินใดๆ…

จริงๆ แล้วเค้าเกษียณตัวเองออกจากคุกที่ยิ่งใหญ่กว่า 
คือคุกที่เรียกว่า “ความต้องการที่ไม่สิ้นสุด” 

บางท่านมีความสุขกับการได้เป็นเพียงเฟืองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งในบริษัทเท่านั้น
บางท่านสนุกกับการได้ทำอาหารอร่อยๆ ให้ลูกค้ากินทุกวันๆ ก็พอ
บางท่านสุขสงบอยู่กับการได้สอนสิ่งดีๆ ให้กับลูกศิษย์

ตัวอย่างเหล่านี้ คือบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถ “ปรับขนาดแก้ว” ของตัวเองได้สำเร็จ
พวกเค้าไม่ต้องรอให้มีเงินครบ 10 ล้าน 100 ล้านก่อน
ไม่ต้องรอให้ตำแหน่งขึ้น หรือไม่ต้องรอชื่อเสียง ไม่ต้องรอคนมายอมรับ
เค้ามีความสุขได้

“ที่นี่ เดี๋ยวนี้”

เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกกับทุกท่านว่าให้หยุดแสวงหานะครับ
ปุถุชนอย่างเราๆ คงยากที่จะหยุดความอยากได้ทั้งหมด
เพียงแต่อยากให้ทุกท่าน “ฉุกคิด” เพิ่มขึ้นอีกมุมมองหนึ่ง
ว่าเราสามารถที่จะปรับความอยาก ปรับขนาดความต้องการของเราได้ด้วย

งานภายนอกเราก็แสวงหาไป ตามกำลัง ตามศักยภาพที่เรามี
ส่วนงานภายในเราก็หา “ความพอ” ให้เจอ

ทำงานทั้งสองไปด้วยกันอาจจะเจอกันครึ่งทาง หรือเจอกันตรงจุดไหนก็ได้
ผมเชื่อว่า มันน่าจะทำให้เรามีความสุข และประสบความสำเร็จ (ภายใน) ได้เร็วขึ้นครับ


โพสครั้งแรกใน A-Academy FB Page  เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 57

10 COMMENTS

  1. ชอบทุกสิ่งของ academyนี้้….จริงๆ สนุกและตั้งใจเรียนที่นี่ กว่าตอนเรียนในระบบอีกค้า

  2. บทความนี้เหมือนของครูอ้อย เข็มทิศเล่ม1เลย เป็นการก๊อป ผลงานที่มีก๊อปปี้ไรท์นะคะ

    • ผมขอ Copy ข้อความที่ตอบไปทาง Message ของ Facebook
      ที่คุณ PITCH ส่งหาผมทางนั้นด้วย มาตอบที่นี่อีกครั้งนะครับ

      – – – – – – – – – – – – – – – – – –

      ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยนะครับ
      หากเป็นการละเมิดงานที่มีลิขสิทธิ์จริง

      แต่ผมขออธิบายสักเล็กน้อย
      ว่าบทความนี้ ผมเขียนขึ้นจากความเข้าใจของตนเอง
      ซึ่งอาจจะไปตรงกับเนื้อหาของผู้เขียนท่านใดได้
      เพราะประเด็นเดียวกัน ก็อาจถูกพูดถึงโดยนักเขียนหลายๆ ท่าน
      ในที่นี่ที่คุณ Pitch พูดถึงก็คือผลงานของครูอ้อย

      ผมเองก็ไม่ทราบจริงๆ ว่า
      หากสิ่งที่ผมเขียนจากประสบการณ์และความเข้าใจของตัวเอง
      ไปตรงหรือคล้ายกับของนักเขียนอีกท่าน จะถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
      และผมไม่สามารถแสดงความเห็นที่เหมือนกับผู้อื่นใช่หรือไม่ ?

      เพราะที่เขียนไปก็เขียนด้วยเจตนาที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองเท่านั้น
      งานเขียนดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นการเขียนในเชิงพาณิชย์
      เว็บไซต์ a-academy.net ก็เป็นเพียงเว็บที่ให้บริการฟรีเว็บหนึ่ง

      หากคุณ Pitch เห็นว่าผิด
      ช่วยแนะนำด้วยครับว่าผมควรทำอย่างไร
      ผมไม่มีเจตนาจะสู้อะไรทั้งสิ้นครับ

  3. ถ้าไม่ใช่การก๊อปก็ขอโทษด้วยค่ะ แต่แค่ไม่อยากให้ทางเว็บมีปัญหาในภายหลัง เข้าใจว่าเว็บต้องการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ค่ะ ก็เลยแค่อยากเสนอความคิดเห็นเฉยๆค่ะ ว่ามันดูเหมือนกันเลย กลัวจะมีปัญหาเรื่องก๊อบปี้ไรท์นะคะ

    • ผมขอ Copy ข้อความที่ตอบไปทาง Message ของ Facebook ที่คุณ PITCH ส่งหาผมทางนั้นด้วย มาตอบที่นี่อีกครั้งนะครับ

      – – – – – – – – – – – – – – – –

      ต้องขอบคุณมากนะครับสำหรับความปรารถนาดี
      ผมเองก็ไม่อยากให้เกิดปัญหา
      และไม่มีเจตนาจริงๆ ที่จะละเมิดงานของใคร

      เท่าที่ผมพิจารณาตอนนี้ คือจะขอวางบทความนั้นไว้ตามเดิมก่อน
      ในอนาคตหากมีผู้ที่เดือดร้อนโดยตรงจากการเผยแพร่บทความดังกล่าวติดต่อมา
      ก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจต่อไป หากจะต้องลบออกก็ค่อยทำตอนนั้นครับ

  4. สิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์
    แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ตามมาตรา6 แต่ก็มีบางสิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ให้ความคุ้มครอง ได้แก่ ขั้นตอน ความคิด วิธีการ กรรมวิธี แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา7 ยังกำหนดให้งานดังต่อไปนี้ไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ คือ
    1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานใน แผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
    2) รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
    3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของหน่วยงาน
    4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
    5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรืองานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

    ดังนั้น สาธารณชนสามารถใช้งานดังกล่าวเหล่านี้ได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใด แม้สิ่งดังกล่าวเหล่านั้นจะปรากฏอยู่ในงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากผู้ใช้งานไม่ได้ลอกถ้อยคำใดในการนำเสนอผลงานของบุคคลอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ไม่มีลิขสิทธิ์ในข้อเท็จจริงที่อยู่ในรายงานข่าวเป็นต้น เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

    นอกจากนั้น ชื่อผลงาน ชื่อต่างๆ (เช่น ชื่อคน ชื่อหนังสือ ชื่อเรื่อง เป็นต้น) ถ้อยคำสั้นๆ คำขวัญ รายชื่อส่วนประกอบหรือส่วนผสมต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีการสร้างสรรค์ที่เพียงพอ แต่พึงระวังว่าสิ่งเหล่านี้อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอื่น เช่น กฎหมายเครื่องหมายการค้า กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

    แนวคิดต่างๆ ที่คุณเอนำมาเขียน เท่าที่ผมอ่านมันก็มีอยู่ในหนังสือแทบทั้งนั้นแหละครับ
    แนวคิดต่างๆ เหล่านี้มันมีมานานแล้ว เพียงแต่ใครจะเลือกเอาประเด็นไหนนำมาเขียน สิ่งที่นำมาเขียนก็เกิดจากความรู้/ความคิดที่ได้จากหนังสือและผู้รู้ต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่ตนคิดได้เอง ผสมผสานกันไป แนวคิดในหนังสือต่างๆ หลายเล่มจึงซ้ำกัน เพียงแต่ใครจะนำมาเขียนในรูปแบบไหน copy กันไปมา
    ความรู้/ความคิดของผมก็ได้มาจากหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา สรุปคือ ผมก็ copy เขามาเป็นส่วนใหญ่
    หลักการเรียนรู้ที่ดีและง่ายของมนุษย์ ข้อแรก ก็คือ การ copy นั่นเอง
    นั่นคือ การเรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นรู้แล้วนำมาถ่ายทอดให้พวกเราอีกทีหนึ่ง เป็นการเรียนลัด ไม่ต้องไปเสียเวลาค่อยๆ เรียนรู้เอง
    เมื่อได้ความรู้/ความคิดจากคนอื่นมาแล้ว ก็นำมาคิด/วิเคราะห์พัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นไปอีก
    ตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของความเจริญทุกวันนี้ก็มาจากการ copy อดีตญี่ปุ่น copy สินค้าหลากหลายชนิดออกขาย แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นได้พัฒนาตนเองขึ้นไปสู่การพัฒนาสินค้าเองแล้ว
    แม้คุณเอจะ copy แนวคิดต่างๆ มาเขียน ความรู้/ความคิดหลายอย่างเป็นสิ่งที่ดี อาจหาจากที่อื่นได้ยาก เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใครหลายๆ คน เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขและความมั่งคั่ง
    แต่ก็มีข้อติงอยู่อย่างคือ สินทรัพย์ลงทุน คุณเอพูดถึงแต่ตราสารการเงินมากเกินไป เช่น หุ้น, กองทุนรวม, หุ้นกู้, พันธบัตร ฯลฯ อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่าถ้าอยากมั่งคั่งต้องลงทุนแนวทางนี้
    สำหรับผมแล้วธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์คือตัวเลือกของผม หุ้นผมก็ดูอยู่ห่างๆ มันยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ใช่สำหรับผม ผมอยากให้คุณเอช่วยให้น้ำหนักความรู้ด้านการลงทุนธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ให้มากพอๆ กับหุ้นหน่อย เพื่อไม่ให้คนหลงเข้าใจผิดว่ามีแต่หุ้นเท่านั้น คนจะได้มีทางเลือกหลายๆ ทาง และตัดสินใจได้ครอบคลุมมากขึ้น

    • ขอบคุณนะครับ คุณชูเจตต์
      สาเหตุที่ผมพูดถึงตราสารการเงินมาก เพราะส่วนตัวเติบโตมาจากเส้นทางนี้
      ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญต่างๆ จึงอยู่ในด้านนี้ด้วย

      ส่วนด้านธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์นั้น
      ผมยังไม่มีประสบการณ์ตรงแบบที่จัดอยู่ในขั้น “เชี่ยวชาญ” เสียทีเดียว
      จึงเลือกที่จะไม่กล่าวถึงโดยตรง โดยเฉพาะไม่มีบทเรียนเฉพาะที่สอนเรื่องนี้
      แต่หากมีโอกาสเมื่อใด (โดยเฉพาะกรณีจัดสัมมนาแบบ Face-to-Face)
      ผมก็จะแนะนำช่องทางศึกษาต่อที่ผมเชื่อว่าดี ให้ผู้เข้าฟังเสมอครับ

  5. ขอบคุณครับ ที่ช่วยชี้แจงให้หลายคนเข้าใจ

    คนแต่ละคนย่อมมีความชำนาญกันแต่ละด้านเป็นธรรมดาครับ
    คนแต่ละคนก็เหมือนกบในกะลา อาศัยอยู่กะลาใครกะลามัน
    ผมก็เป็นกบในกะลา กะลาของผมเป็นกะลาของทหารและสาธารณสุข เผอิญผมเปิดกะลาตัวเองแล้วกระโดดเข้าไปหาความรู้ในกะลาการเงิน ธุรกิจและอสังหาฯ
    ส่วนคุณเออยู่ในกะลาของ finance
    ความรู้ในโลกนี้มีมากมายหลากหลาย ไม่มีใครสามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมด หลายคนโกรธที่มีใครมาบอกว่าเขาเป็นกบในกะลา สำหรับผมไม่โกรธหรอก ผมเข้าใจว่าผมเป็นกบในกะลาจริงๆ ผมอาจจะเก่งบางเรื่อง และโง่ในหลายเรื่อง ผมยังต้องการความช่วยเหลือจากหลายท่านอีกมาก

    ออกนอกเรื่องไปมากแล้วครับขออภัย มาคุยเรื่องขนาดของความต้องการและการพัฒนาศักยภาพตนเองกันดีกว่า
    ขนาดของความต้องการ หรือ เป้าหมายชีวิต ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่า ถ้าผิดก็ขออภัยครับ

    ถ้าเรากำหนดขนาดของความต้องการต่ำ เราก็จะมีความสุขความสบายใจในสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เราจะไม่กระตือรือร้นในการแสวงหา ไม่พัฒนาศักยภาพของตัวเอง ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เคยเป็นอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป
    ตัวอย่าง คนเผ่าตองเหลืองในภาคเหนือ พวกเขาอยู่ในป่า ไม่ต้องมีรถมีบ้าน ก็ไม่ต้องแสวงหามากนัก ไม่ต้องปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพตัวเอง พวกเขาก็มีความสุขในแบบของเขา ชีวิตก็ไม่เครียด

    ถ้าเรากำหนดขนาดของความต้องการสูง “คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก” เราก็ต้องมีการวางแผนเพื่อจะไปสู่เป้าหมาย มีการลงมือทำมีการแสวงหาและพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น จึงจะนำเราไปสู่เป้าหมายนั้นได้ แน่นอนความเครียดย่อมเกิดขึ้น เพราะมันเป็นการผลักดันตัวเองออกจากขอบเขตความสบาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีมากกว่า

    ยกตัวอย่างคุณเอ ถ้าคุณเอคิดเล็ก เป็นแค่ช่าง ปวช. ปวส. ก็พอ คุณเอก็ไม่ต้องเครียดกับการเตรียมตัวสอบ ไม่ต้องทนทุกข์กับการเรียนวิศวะ ซึ่งเสียทั้งเงิน เวลา และความทุกข์จากการเรียน คุณเอก็จะมีความสุขกับการเป็นช่าง ปวส.
    แต่ที่ผ่านมาคุณเอคิดใหญ่มีขนาดของความต้องการสูง ต้องการเรียนให้สูง ต้องการรวย คุณเอจึงต้องทำมากกว่า เครียดมากกว่า แต่ลพลัพธ์ที่ได้ก็มากกว่าเช่นกัน และก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้
    แล้วแบบไหนดีกว่ากัน ?
    คำสอนพระพุทธเจ้า ” ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ดี ที่ดีคือ เดินสายกลาง”
    สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ใจกำหนดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
    ไม่มีอะไรมีความหมาย นอกจากเรามอบให้มันเอง
    ดังนั้นไม่ว่าจะคิดใหญ่คิดเล็กก็มีความสุขได้ทั้งนั้น
    แต่ถ้าย้อนเวลากลับอดีตได้ คุณเอคิดว่าตนเองน่าจะเรียนสูงหรือเรียนต่ำดี

    • ผมคิดว่าถ้าย้อนอดีตได้ ก็คงทำคล้ายๆ เดิมนี่แหละครับ
      เพราะถ้าบิดเส้นทางไปนิดนึง วันนี้ที่เป็นอยู่… คงไม่มี
      มีวันนี้แล้ว ก็อยากใช้สถานะ + สิ่งที่มีอยู่วันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันทะพาไปครับ
      ผมคิดว่าที่ทำอยู่นี้ก็กำลังพอดีๆ แล้วครับ

      จริงๆ คือทำอะไรอยู่หลายอย่างมาก นอกจากที่เห็นในอินเตอร์เน็ตครับ 🙂

  6. มีผลการทำวิจัยหนึ่ง ทำการสอบถามคนวัยกลางคน ว่าถ้าคุณย้อนเวลากลับไปเป็นวัยรุ่นได้ คุณอยากกลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตมากที่สุด
    คำตอบ คือ
    ลำดับ 1. อยากเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียน
    ลำดับ 2. อยากเปลี่ยนแปลงคู่สมรส
    สำหรับการเรียน คุณเอพอใจสิ่งที่เป็น แสดงว่าคุณเอมาถูกทางและได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ความยินดีด้วยครับ
    สำหรับเรื่องคู่สมรส คุณเอเพิ่งแต่งงาน ก็ต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย จึงจะรู้ว่าใช่หรือไม่
    สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายคนรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่เลือกที่ผ่านมา การเลือกจึงต้องเลือกให้ดีๆ ไม่งั้นอาจมีระทมใจ ชีวิตจริงมันย้อนเวลากลับไม่ได้
    ผมคิดว่าคนที่เข้ามาในเวปนี้คงหาคนที่คิดเล็กยาก คงอยากรวยกันทั้งนั้น แสดงว่ามีหัวใจเดียวกัน ขอให้ขยันเรียนรู้ เก็บออมเงิน หมั่นลงทุน ระวังความเสี่ยง อดทน อดกลั้นใจ เดี๋ยวก็ประสบความสำเร็จตามคนก่อนหน้าครับ
    ผมก็เป็นคนคิดใหญ่ อยากรวยมากๆ ถึงแม้วันนี้จะยังไม่ถึงเป้าหมายสูงสุด แต่เป้าหมายระหว่างทางได้ถึงมาเป็นระยะและมีความสุขกับผลลัพธ์ที่ได้ตลอดมา
    แต่ถึงแม้ผมจะไปถึงเป้าหมายสูงสุด ผมก็ต้องตั้งเป้าหมายใหม่อยู่ดี เพราะเกิดเป็นคนควรจะมีเป้าหมายในชีวิตเสมอ
    เป้าหมายชีวิตจะเป็นอะไรก็ได้แต่ขอให้มี ถ้าคนเราขาดซึ่งเป้าหมายในชีวิต ชีวิตจะห่อเหี่ยว ขาดพลังชีวิต
    เมื่อขาดพลังชีวิต ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตก เป็นโรคง่าย ตายเร็ว
    คนเราจึงควรรู้จักชีวิต และรู้จักวางแผนการใช้ชีวิตให้เหมาะสม

Leave a Reply to A Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here