สวัสดีครับพี่เอ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าตัวเองโชคดีมากๆ
ที่มาเจอ Website สอนการลงทุนและวางแผนทางการเงินของพี่
ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลยครับ ตอนนี้รู้จักออมมากขึ้น และรู้สึกมั่นใจในการลงทุนขึ้นมากๆ ครับ
เลยจะรบกวนถามเรื่อง Portfolio ในการลงทุนหน่อยครับ ว่าเหมาะสมแค่ไหน ?

ข้อมูลส่วนตัวของผม

  • เงินเดือน + เวร 160,000 ต่อเดือน ไม่มีโบนัส
  • เงินเก็บสำรองในธนาคารมีอยู่ 500,000 บาท
  • ค่าใช้จ่าย เดือนละ 20,000 บาท
  • ผ่อนบ้าน เดือนละ 40,000 บาท 20 ปี
  • ตอนนี้ผมอายุ 30 ปีครับ แพลนจะแต่งงานอีก 2 ปีครับ

แผนที่คิดไว้นะครับ จะออมเดือนละ 100,000 บาท

  1. ระยะสั้น ฝากสหกรณ์ เดือนละ 50,000 ดอกเบี้ย 3.5% ถอนได้หลัง 6 เดือน
  2. ระยะยาว จะลงทุนในกองทุนครับ เพราะส่วนตัวไม่ค่อยมีเวลา

    • กองทุนลดหย่อนภาษี CG-LTF เดือนละ 20,000 และ ABSC-RMF เดือนละ 10,000
    • กองทุนอื่นๆ อีก 2 กองทุนครับ TMB SET50 เดือนละ 10,000 และ ABSM เดือนละ 10,000

ผมหวังประมาณ 8 – 12% ครับ และคงลงทุนระยะยาว
ลงทุนเป็นประจำทุกเดือนแบบ DCA  เพื่อเกษียนจะได้มีเงินสัก 20 ล้านบาท

รบกวน 2 คำถามครับ

  1. ช่วยชี้แนะหน่อยนะครับว่าพอร์ตแบบนี้โอเคมั้ย
    กองทุนที่เลือก 4 กองนี้ ควรเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนไหมครับ ?
  2. การซื้อแบบ DCA ควรเข้าซื้อวันไหนดีครับ เช่น ต้นเดือน กลางเดือน ปลายเดือน
    ผมกะว่าทุกวันที่ 10 ครับ เพราะเงินเดือน + เงินเวร ออกช่วงนั้น

ปล.ขอบคุณพี่มากจริงๆ วิดีโอที่พี่ทำเปลี่ยนชีวิตใครหลายๆ คนเลยครับ ^___^


คำตอบ

สำหรับคำถามนี้ ขอเอาเมล์คำถามที่ได้รับ มาลงแบบเต็มๆ นะครับ (ปกติจะตัดมาเฉพาะคำถาม)
ที่เอามาลงเต็มๆ เพราะชอบครับ… อ่านไปก็ยิ้มไป

ภูมิใจ ที่ A-Academy ได้มีโอกาสทำให้คนออมได้มากขึ้น ได้มีความหวังและมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้น
ได้รับ Feedback เท่านี้ ก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำอะไรต่ออีกเยอะครับ ^-^


ขอตอบคำถามที่ 1 เลยก็แล้วกันนะครับว่าพอร์ตที่จัดเหมาะสมหรือไม่ ?

ผมเดาว่าผู้ถามเป็นคุณหมอ ดังนั้นขออนุญาตเรียกแทนว่าคุณหมอเลยนะครับ 😛

เนื่องจากคุณหมอ ไม่ได้ให้อายุที่คาดว่าจะเกษียณมา
ดังนั้น ผมขอถือวิสาสะ จัดให้คุณหมอเกษียณอายุตอน 60 ปีไปก่อนนะครับ
ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณหมอจะมีเวลาเก็บเงินลงทุนทั้งสิ้น 30 ปี (นับจากอายุปัจจุบัน)

กรณีที่ 1 ใช้เป้าหมายที่คุณหมอตั้งมา คือ 20 ล้านบาท

เนื่องจากคุณหมอสามารถออมได้เยอะมากๆ
ลำพังเงินต้นเดือนละ 50,000 บาท คูณไป 30 ปี ก็จะกลายเป็น 18 ล้านบาทแล้ว
ดังนั้นแทบไม่ต้องจัดพอร์ตอะไร ฝากเงินเฉยๆ ก็จะถึงเป้าหมาย 20 ล้านบาทได้ง่ายๆ แล้ว

ผมจึงขอปรับเป้าหมายให้ใหม่ เพราะคิดว่า 20 ล้านบาท ไม่น่าใช่ตัวเลขที่เหมาะสม

กรณีที่ 2 ใช้เป้าหมายใหม่ที่ผมปรับให้คือ 42 ล้านบาท

ตัวเลขนี้มาจากการประมาณตามความเห็นของผมเอง
ว่าเมื่อเกษียณคุณหมอ (และครอบครัว) น่าจะใช้เงินเดือนละประมาณ 50,000 บาท
โดยคาดว่าจะเตรียมไว้ใช้ประมาณ 25 ปี หลังเกษียณอายุ (ประเมินอายุขัย = 85 ปี)

นำ 50,000 บาท/เดือน x 12 เดือน x 25 ปี = 15 ล้านบาท

แต่เนื่องจากจำนวนเงิน 50,000 บาทนั้น เป็นมูลค่าเงิน ณ ปัจจุบัน
การที่คุณหมอจะเกษียณอายุในอีก 30 ปีนั้น จึงต้องบวกเรื่องของเงินเฟ้อเข้าไปอีก 30 ปี
โดยประเมินอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณ 3.5% ต่อปี

ด้วยเงินเฟ้ออัตรานี้ ของที่ราคา 1 บาท ณ ปัจจุบัน จะมีราคา 2.8 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้า
(เกิดจากการที่ของแพงขึ้นในอัตราทบต้น ปีละ 3.5%)

นั่นคือเงินทุนเพื่อการเกษียณอายุ 15 ล้านบาทที่ประเมินจากตัวเลขค่าใช้จ่ายยุคปัจจุบัน
ก็จะสูงขึ้น 2.8 เท่าด้วยเช่นกัน กลายเป็น 15 ล้านบาท x 2.8 เท่า = 42 ล้านบาท

สมมติว่าคุณหมอเชื่อเป้าหมาย ค่าที่ผมประเมินให้นี้
และ อาศัยความรู้และไฟล์ Excel ช่วยวางแผนการลงทุนจากบทเรียนตอนนี้
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/05-planning-regular/

จะพบว่าหากลงทุนเดือนละ 50,000 บาท เป็นเวลา 30 ปี

  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 34 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 41 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 49 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 59 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 71 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 86 ล้านบาท
  • ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เงินจะเติบโตเป็นประมาณ 104 ล้านบาท

ที่ผมไฮไลท์ตัวหนาที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6%
เพราะถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่สามารถบรรลุเป้าหมาย 42 ล้านบาทได้แล้ว

แต่ที่ยังแสดงมูลค่าเงินในอนาคตที่ระดับผลตอบแทนสูงกว่านั้นให้ดู
ก็เพื่อให้คุณหมอได้เห็นความเป็นไปได้ ว่าเงิน Input เดือนละ 50,000 บาทเท่าๆ กัน สามารถสร้างอะไรได้อีก


เรื่องความเหมาะสมของพอร์ต

อาจแนะนำได้เป็น 2 กรณีอีกเช่นกันคือ

กรณีที่ 1 หากคุณหมอเห็นด้วยกับผมว่า 6% ก็ทำให้บรรลุเป้าหมายได้แล้ว

ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนหุ้นทั้ง 50,000 บาท ตามที่คุณหมอตั้งใจจะจัด
แต่สามารถลดความเสี่ยงลงมาได้อีกมาก เช่นสามารถจัด Asset Allocation
เป็นกองทุนหุ้นประมาณ 40-50% ที่เหลือเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็ยังไหวครับ
ในกรณีนี้ แทนที่จะลงทุนกองหุ้นทั้ง 50,000 บาท ก็จะลงแค่ 20,000 – 25,000 บาท

หรือหากคุณหมอสนใจพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงมากกว่านี้
ก็ลองจัดพอร์ตตามแนวทางในบทเรียนตอนนี้ได้ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/06-income-port/

กรณีที่ 2 หากคุณหมอต้องการผลตอบแทนมากกว่า 6%

ในกรณีนี้คุณหมอก็สามารถมี Asset Allocation ที่เพิ่มหุ้นเข้าไปได้อีก
แต่ผมคิดว่ามันไม่จำเป็นที่เราจะต้องเสี่ยงขนาดหุ้น 100% แบบที่คุณหมอคิดไว้ตอนแรก
เพราะเป้าหมายเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น มันก็จะคล้ายๆ กับการขับรถล่ะครับ
ถ้าเราไม่ได้รีบขนาดต้องเหยียบคันเร่งจนมิด เราก็ขับไปสบายๆ ก็ถึงที่หมายได้และปลอดภัยกว่า

สมมติว่าคุณหมอต้องการสัก 8-10% ก็อาจจะเพิ่มหุ้นขึ้นเป็น 60-70%
คือซื้อกองทุนหุ้นเดือนละ 30,000 – 35,000 บาท ที่เหลือเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้
หรือจะจัดตามพอร์ต Diversified Growth ตามบทเรียนตอนนี้ก็ได้ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/07-growth-port/


เรื่องความเหมาะสมของกองทุนหุ้นที่จะเลือกใช้

ต้องบอกว่ากองทุนหุ้นประเภท Active Fund ที่คุณหมอเลือกมาทั้ง CG-LTF, ABSC-RMF, ABSM
ก็ถือเป็นกองทุนชั้นนำของประเทศไทย และมีผลตอบแทนในอดีตอยู่ในระดับต้นๆ
แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า เค้าจะทำผลตอบแทนได้ดีในอนาคตข้างหน้า เหมือนที่ทำได้ในอดีตรึเปล่า

ถ้าคุณหมอสามารถติดตามผลการดำเนินงานของกองเหล่านี้ได้เป็นระยะๆ
และยินดีที่จะเปลี่ยนกองได้ หากกองที่เลือกไว้มีแนวโน้มทำผลตอบแทนได้แปลกๆ
เช่นเริ่มแพ้ตลาดหรือ แพ้ Benchmark ต่อเนื่องนานๆ ก็โอเคครับ

แต่ถ้าคุณหมอจะซื้อกองเดิมไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะติดตาม หรือจะเปลี่ยนกองเลย
ก็อาจจะให้น้ำหนักไปที่ Index Fund เช่นกอง SET50 มากหน่อยจะดีกว่าครับ
เพราะพวก Index Fund นั้นเราไม่ต้องตามเค้ามาก เค้าก็บริหารแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ
ถ้าระยะยาวตลาดหุ้นดี กอง Index Fund ก็จะดีตามไปด้วยค่อนข้างแน่นอน ลองศึกษาเพิ่มจากบทเรียนตอนนี้ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/15-securities-selection/

ซึ่ง Index Fund นั้นก็มีทั้งที่เป็น LTF, RMF และ กองทุนเปิดทั่วไปครับ


ตอบคำถามข้อ 2 เรื่องจะลงทุน DCA ช่วงไหนดี ?

ผมเองเคยเห็นการทดลองลักษณะแบบนี้มาบ้างครับ
ซึ่งก็พบว่า ผลการทดลองที่ได้นั้น มีลักษณะเป็น “Period-Specific”
หมายความว่า มันไม่ได้แน่นอน หรือสามารถการันตีอะไรได้
ว่าลงทุนต้นเดือน กลางเดือน สิ้นเดือน ช่วงไหนจะดีสุด
เพราะในบางช่วงเวลาของการทดลอง ลงทุนช่วงสิ้นเดือนก็ดีที่สุด
แต่ในบางช่วง การลงทุนสิ้นเดือนก็ไม่ได้ให้ผลที่ดีที่สุด เป็นต้น

ดังนั้น ผมว่ากลับมาสู่แก่นของวิธี DCA คือเรื่อง “วินัย” ดีกว่าครับ

ซึ่งการที่คุณหมอเลือกให้หักเงินไปลงทุน ใกล้กับวันที่รับเงินเดือน + เงินเวร
ก็ถือเป็นการ Maximize Discipline คือการสร้างวินัยในการออม/การลงทุนได้มากที่สุดแล้วครับ
เพราะเงินจะถูกแบ่งไปลงทุนแน่นอน โดยไม่ถูกเราแย่งเอาไปใช้อย่างอื่นก่อน


คำแนะนำเพิ่มเติม

ยังไงก็ตาม แนวทางที่ผมตอบมาให้ ก็ถือเป็นแนวทางในเบื้องต้นเท่านั้น
เพราะไม่ได้มีการพูดคุยค้นหาความต้องการจริง และข้อจำกัดอื่นๆ ที่อาจมี หรือเกี่ยวข้อง
การนำไปใช้ก็ขอให้ระมัดระวังให้มากๆ นะครับ

ลำพังจากข้อมูลที่ให้มา ผมอยากให้ระมัดระวังเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้ครับ

  • สภาพคล่องของเงินฝากสหกรณ์ ว่าสามารถถอนออกมาได้ยากง่ายเพียงใด
    กรณีที่เราต้องการใช้เงินออมระยะสั้น เป็นการฉุกเฉิน หรือด่วนๆ เป็นจำนวนมากๆ
  • ความเสี่ยงของเงินฝากสหกรณ์ จากการที่เราออมเงินระยะสั้นทั้งหมดในนั้น
    อาจแบ่งไปกองทุนรวมตราสารหนี้บ้าง หรือเงินฝากประเภทอื่นๆ บ้างก็ได้ครับ
  • เงินออมระยะสั้น ถ้าสะสมไว้มากพอแล้ว เอาไปโปะบ้านบ้างก็ดีนะครับ
    อย่างน้อยดอกเบี้ยบ้านก็สูงกว่า ดอกเบี้ยสหกรณ์ และกองทุนรวมตราสารหนี้อื่นๆ แน่ๆ
  • ความต่อเนื่องยั่งยืนของการออมเดือนละ 100,000 บาท (ระยะสั้น 50,000 / ระยะยาว 50,000)
    เพราะถือเป็นอัตราการออมที่ค่อนข้างสูง ไม่รู้ว่าตึงเกินไปรึเปล่าครับ
  • เป้าหมายการเงินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากแต่งงาน ซึ่งอาจต้องจัดสรรเงินไปเตรียมการด้วยเช่นกัน

ขอจบไว้ประมาณนี้แล้วกันนะครับ… หากสงสัยเพิ่มเติมก็สอบถามเพิ่มได้ครับ

ผมเชื่อว่า หลายๆ ท่านที่อ่านคำถามของคุณหมอ
จะต้องอิจฉาแน่นอน ที่อายุขนาดนี้ แต่มีรายได้และเก็บออมได้มากขนาดนี้… ผมยังอิจฉาเลยคร้าบบบ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here