สวัสดีครับ ผมลองไปคิดเล่นๆ ว่า ถ้าผมจะจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวมแบบนี้จะเป็นยังไง

  1. กองทุนรวมตราสารหนี้ ถือ 3 กอง = ตราสารหนี้ระยะสั้น + ตราสารหนี้ระยะกลาง + ตราสารหนี้ต่างประเทศ
  2. กองทุนหุ้น ถือ 3 กอง = Active Fund แบบ Growth + Active Fund แบบ Blend + Index Fund (SET50)

แบบนี้ผมจะถือกองทุนรวมทั้งสิ้น 6 กอง เป็นตราสารหนี้ 50% หุ้น 50%

เป้าหมายที่ผมวางไว้ตอนนี้คือ

  1. ชนะเงินเฟ้อ
  2. ไม่เสียดายเงินที่ต้องนอนในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ
  3. หัดให้ตัวเองมีวินัยในการออม
  4. ลงทุนมากกว่า 5 ปี

ร่ายมาซะยาว คำถามก็คือ

  1. การจัดพอร์ตลงทุนแบบที่ผมบอก มีข้อเสียไหมครับ ที่ผมเห็นข้อเสียก็คือ
    มันหลายกองเกินไป อาจจะจัดการยุ่งยาก อยากทราบว่าพี่มีความเห็นเพิ่มเติมอะไรอีกบ้างครับ
  2. การจัดพอร์ตแบบนี้ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไหมครับ ใจผมก็คิดว่ามันกระจายนะครับ
    แต่ไม่รู้ความจริงมันกระจายหรือเปล่า และมันคุ้มหรือเปล่าที่จะกระจายแบบนี้แต่เพิ่มความยุ่งให้กับตัวเอง
  3. ผมจะนำเงินก้อนที่มีอยู่ก้อนแรก ไปแบ่งลง 6 กองทุน จากนั้น DCA ทุกกองทุน ทุกเดือน แบบนี้เหมาะสมไหมครับ
    เพราะผมจับจังหวะตลาดไม่เป็น บางครั้งไม่ว่างด้วยเนื่องจากแต่ละเดือนเรียน/ทำงานหนักเบาไม่เท่ากัน
  4. จากเป้าหมายของผม การจัดหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% ดูเหมาะสมไหมครับ
    เพราะบางคนบอกว่าถ้าระยะยาวแล้วควรเพิ่มหุ้นเข้าไป
    แต่ตัวผมนั้นคิดว่าตนเองจะสามารถรับความเสี่ยงได้ประมาณนี้ครับ (จากที่ดูวิดีโอตอน กองทุนผสม)
    เวลาตกจะได้ไม่ช้ำใจมาก จนสามารถถือต่อได้โดยไม่ขายทิ้งซะก่อนครับ

คำตอบ

ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ นะครับ

ข้อ 1.  มีทั้งข้อเสีย แต่ก็มีข้อดีคือได้กระจายความเสี่ยง หรือได้จัดสัดส่วนสินทรัพย์ในแบบที่เรารับได้ 

สำหรับข้อเสียนั้น พี่คิดว่ามีดังนี้ครับ

1) เรื่องความยุ่งยากถ้าต้องเปิดบัญชี บลจ. หลายๆ แห่ง

ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการหา Broker ที่มีบริการ Fund Super Mart ให้ใช้

2) เรื่องของการเลือก ที่เราอาจเลือกกองที่มันใกล้เคียงกันมากเกินไปจนไม่ได้ประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยง

ยกตัวอย่าง สำหรับกรณีตราสารหนี้ที่ยกตัวอย่างมาว่าจะกระจายลงทุนใน ตราสารหนี้ระยะสั้น + ระยะกลาง + ต่างประเทศ
พี่คิดว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กับ ตราสารหนี้ระยะกลาง ที่มีขายในไทยนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก
อาจเลือกเพียงประเภทเดียวก็ยังได้ครับ เช่น เป็นตราสารหนี้ระยะกลาง + ตราสารหนี้ ตปท.

ในเคสกองทุนหุ้นก็เช่นกัน ถ้าเริ่มกระจายหลายกองมากๆ
ต้องระวังมันจะกระจายจนไม่เห็นผลดีจากการเลือก Active Fund แต่เคสที่ยกตัวอย่างมา ก็น่าจะพอไหวอยู่ครับ


ข้อ 2. ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงครับ

แผนที่น้องถามมา มีการกระจายความเสี่ยงอยู่ 3 ระดับ

ระดับแรก คือ กระจายความเสี่ยงระหว่างสินทรัพย์  หรือ  Inter-Asset Diversification
คือหุ้นกับตราสารหนี้ ก็ช่วยลดความผันผวนระหว่างทางลงได้ แต่ก็จะลดผลตอบแทนเมื่อลงทุนระยะยาวๆ ด้วยนะครับ

ระดับที่สอง คือ กระจายในกลุ่มสินทรัพย์เดียวกัน หรือ Intra-Asset Diversification
ก็คือการไปถือหุ้นหลายๆ ตัว ซึ่งจริงๆ ถือกองทุนกองเดียวก็ได้กระจายแล้ว
แต่ยิ่งน้องคิดจะถือ 3 กอง ที่ลงทุนหุ้นไม่เหมือนกัน ก็ยิ่งกระจายเพิ่มอีก

แต่ก็เช่นกันนะครับ มันช่วยลดความผันผวนระหว่างทาง แต่ก็จะลดผลตอบแทนระยะยาว
เมื่อเทียบกับการลงทุนในกองที่ดีที่สุดเพียงกองเดียว

ระดับที่สาม คือ กระจายการลงทุนในต่างประเทศ หรือ International Diversification
ในกรณีที่มีการแบ่งเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ

ที่พี่อยากจะเน้นคือ การกระจายความเสี่ยงนั้น ไม่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนระยะยาว
แต่จะช่วยลดความผันผวนระยะสั้น หรือความผันผวนระหว่างทาง น้องต้องถามตัวเอง ว่าต้องการสิ่งนั้นรึเปล่า

อย่างถ้าเป็นพี่ พี่ค่อนข้างทนไหวกับความผันผวน พี่ก็ไม่ได้กระจายมาก
แต่จะให้ถือหุ้นตัวเดียว หรือแค่สองตัว พี่ก็ไม่กล้าพอเหมือนกันครับ


ข้อ 3 เหมาะสมครับ

เพราะเรารู้ข้อจำกัดของเราเอง และเราก็มีระยะเวลาลงทุนที่ยาว
สำคัญคือ เราต้องเข้าใจว่าวิธีการนี้ทำไปเพื่ออะไร จะได้คาดหวังจากมันถูกต้อง

วิธีนี้จะไม่ให้ผลเลิศ มันจะไม่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ประโยชน์หลักที่มันให้คือ “วินัยการลงทุน”
และช่วยลดความเสี่ยงในการไปซื้อที่ราคา “แพงสุดโต่ง” เยอะๆ

ถ้าเราพอใจเท่านี้ได้ แล้วเราทำเท่านี้
เราก็จะเป็นนักลงทุนที่ได้ให้เงินทำงานจริงๆ
ไม่ใช่ต้องมาทำงานเพื่อเงิน ด้วยการหาจังหวะซื้อๆ ขายๆ อีก


ข้อ 4 เรื่องสัดส่วน 50:50 นั้นเหมาะสมมั๊ยน้องต้องเลือกเองครับ

เลือกแทนกันไม่ได้ เชื่อว่าน้องได้ศึกษามาดีพอสมควร
หลักๆ คือเน้นดูในช่วงเวลาที่มันแย่ ว่าเราจะยังนอนหลับได้มั๊ย ยังโอเคที่จะถืออยู่มั๊ย
เพราะวิธีการลงทุนที่เราเลือก นั้นคือการถือ + ลงทุนต่อเนื่อง

จริงๆ ก็สามารถลดหุ้นลงได้อีก ถ้าต้องการเพียงแค่ชนะเงินเฟ้อ
แต่พี่ก็เสียดายแทนครับ เพราะเวลาเยอะ อายุยังน้อย รับความเสี่ยงบ้างก็ได้
การเลือกไม่เสี่ยงวันนี้ มันก็เพิ่มความเสี่ยงวันหน้าได้เหมือนกัน ต้อง Balance ให้ดีครับ

[hr style=”2″ margin=”30px 0px 30px 0px”]

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here