ต้องขอโทษด้วยนะครับ ที่ผมเขียนหัวเรื่องหลอกให้คลิ๊กเข้ามาอ่าน แต่ก็เพราะอยากให้อ่านกันจริงๆ ใจความสำคัญตามหัวเรื่องจะอยู่ตอนท้ายของบทความนี้ แต่ก่อนอื่น ผมอยากแทรกเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้มาให้อ่านก่อน

ประกันชีวิต… อย่าแค่ “ทำพอให้มี”

ประกันชีวิต เป็นสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะร้อง “ยี้” เมื่อมีใครมาเสนอขาย แต่เชื่อเถอะครับว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายๆ ท่านแน่นอน โดยเฉพาะหากเรารักและห่วงใยคนข้างหลัง ซึ่งอาจจะเป็น พ่อ-แม่ สามี-ภรรยา หรือ ลูกของเรา ฯลฯ เพราะเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เรายังมั่นใจว่า เราสามารถดูแลเค้าได้ จะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน เราก็ยินดีทำ บางคนถึงขั้นจัดให้ความสุขของครอบครัว มาก่อนความสุขของตัวเองด้วยซ้ำ

ดังนั้นในวันที่เราจากไป ด้วยความไม่แน่นอนอะไรก็ตาม เราคงไม่อยากให้เค้า ทั้งต้องเศร้าเรื่องการจากไปของเรา และยังต้องดิ้นรนเผชิญปัญหาทางการเงินจากการจากไปของเราด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายๆ คน แม้จะยี้ยังไง ก็ยังมีประกันชีวิตติดตัวไว้บ้าง

แต่จากประสบการณ์ที่ผมได้เห็นพฤติกรรมการทำประกันชีวิตของคนจำนวนมาก ก็พบว่าเราเพียงทำประกันชีวิต “แค่พอให้มี” ทุนประกันก็เพียงหลักไม่กี่แสน ซึ่งมันไม่ได้เพียงพอต่อสิ่งสำคัญจำเป็น เช่น

  • ไม่ครอบคลุมภาระหนี้ ที่เราเองก่อไว้ บางคนทิ้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้ธุรกิจเอาไว้ให้ครอบครัว ทั้งๆ ที่ตอนไปก่อหนี้ไว้ เราตั้งใจว่าจะผ่อนเอง หรือผ่อนช่วยกัน กลายเป็นว่าภาระของคนข้างหลังหนักขึ้นทันที
  • ไม่เพียงพอให้ครอบครัวได้ใช้จ่ายในช่วงปรับตัว ลองนึกภาพว่าเราเคยส่งเสียครอบครัว เดือนนึงอาจจะหลักพันหลักหมื่น พ่อแม่บางคนรอเงินจากลูกทุกเดือน หรือ ครอบครัวเราเคยได้เงินส่วนหนึ่งจากเราในการใช้จ่ายประจำวัน อยู่ดีๆ เงินนั้นหายไป รายได้ของคนข้างหลังอาจไม่พอจ่าย ทำให้มีปัญหาหนี้สินตามมาอีก

ดังนั้น “จำนวนทุนประกัน” ซึ่งเป็นเงินที่จะได้รับเมื่อเสียชีวิต จึงมีความสำคัญอย่างมาก ผมอยากขอให้ทุกท่านลองดูวีดีโอตอนนี้ ลองทำตาม และตรวจเช็คกับกรมธรรม์ทุกเล่มที่มี ว่าเรามีพอรึยัง

วีดีโอ หลักการวางแผนประกันชีวิต (ทุนประกันที่เหมาะสม)

ซึ่งหากดูแล้วพบว่า เรายังมีน้อยเกินไป แต่จะทำเพิ่มก็รู้สึกว่าแพง จ่ายไม่ไหว นั่นอาจจะเพราะเราเลือกประเภทของประกันชีวิตไม่ถูกต้อง เพราะประกันชีวิตที่แพร่หลายในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งมีเบี้ยที้แพง และมีวัตถุประสงค์เพื่อออมเงินมากกว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเลือกให้ถูกประเภท ท่านอาจลดค่าใช้จ่ายได้เป็น 10 เท่า ลองดูวีดีโอนี้ดูจะช่วยให้เลือกได้ถูกประเภทมากขึ้นครับ

วีดีโอ การเลือกแบบประกันชีวิต

ต่อไปนี้ ก่อนจรดปากกาลงไปเซ็นต์ชื่อ เพื่อซื้อประกันชีวิตกับใครที่ไหนก็ตาม ผมอยากให้เรา “เซ็นต์ด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” ว่าการเซ็นต์ชื่อนี้ คือการสร้างหลักประกันที่คิดอย่างรอบคอบให้กับครอบครัว ไม่ใช่เพียงซื้อตัดรำคาญ หรือเพียงเพื่อลดหย่อนภาษี


มากกว่าแค่การมี “ทุนประกันชีวิต” ที่เหมาะสม

แค่การจะมีทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่เชื่อมั๊ยครับว่า นั่นก็ยังไม่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจริงๆ “เงินทุนประกันชีวิต” ที่ครอบครัวหรือคนข้างหลังได้รับนั้น จะถูกใช้ตรงตามเจตนารมณ์ของเรา นั่นเพราะในกรมธรรม์จะมีให้เราระบุเพียงแค่ชื่อของ “ผู้รับผลประโยชน์” เท่านั้น แต่ไม่ได้มีพื้นที่ให้เราเขียน “เจตนารมณ์” หรือ “วิธีในการจัดการเงินทุนประกันที่ได้รับ

ทำให้หลายๆ ครั้ง เมื่อครอบครัวได้รับเงินก้อนใหญ่มา ก็อาจจัดการผิดพลาด (โดยเฉพาะถ้าไม่เคยบริหารเงินก้อนมาก่อน) ทำให้เงินที่ควรจะนำไปปลดหนี้ เงินที่ควรจะกันไว้เป็นทุนการศึกษาลูก หรือเงินที่ต้องเก็บสำรองไว้ทยอยใช้จ่ายในครอบครัว กลับถูกนำไปทำบางอย่าง ที่อาจนำไปสู่การสูญเงินก้อนนี้แทน เช่น

  • เอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ เพียงเพราะอยากจะรักษาเงินให้อยู่นานๆ ที่สุด แต่สุดท้ายก็เจ๊ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำธุรกิจได้สำเร็จกันง่ายๆ
  • นำเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของราคาแพง เนื่องจากได้เงินทุนประกันชีวิตมาก้อนใหญ่ และไม่รู้จะจัดการอย่างไร เห็นว่ามีเยอะ นึกอะไรไม่ออกก็ซื้อซะ
  • เหตุผลอื่นๆ หากเราเคยได้ยินเรื่องของคนที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งฯ แล้วแว๊บเดียวก็ใช้เงินหมด กลับมาลำบากอีกรอบอย่างไร การได้ทุนประกันก้อนใหญ่นี้ ก็คล้ายๆ กันครับ

ดังนั้น ผมอยากชวนทุกท่าน หากระดาษสักแผ่น เขียนสิ่งเหล่านี้ลงไป เขียนเสร็จแล้วสอดไว้ในเล่มธรรม์ของท่านกัน


เขียนเจตนารมณ์และวิธีการจัดการเงินทุนประกันชีวิต

ผมจะยกตัวอย่าง กรณีพ่อ (ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว) เขียนถึงคนข้างหลังคือภรรยา ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ นะครับ

ถึงภรรยาที่รัก…

หากเธอได้อ่านจดหมายฉบับนี้ พี่คงเสียชีวิตไปแล้วด้วยเหตุอะไรก็ตาม ต้องขอโทษด้วยที่จากไปก่อน แต่คนเราต้องตายกันทุกคน ขอเธออย่าเสียใจ พี่มั่นใจว่าตอนมีชีวิตอยู่ ได้เป็นคนที่มีคุณค่า เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มสำหรับการเกิดชาตินี้

สิ่งที่พี่ยังห่วงคือเธอยังต้องใช้ชีวิตต่อ ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนพี่ ยังต้องเลี้ยงดูลูกๆ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลให้พี่ทำประกันชีวิตฉบับนี้ พี่ตั้งใจทำมันเป็นอย่างดี คิดอย่างรอบคอบ ว่าทุนประกัน 3 ล้านบาทนี้ จะช่วยเป็นหลักประกันที่ดีให้กับเธอและลูกๆ ได้

พี่อยากขอร้องให้เธอช่วยจัดการเงินตามเจตนารมณ์ของพี่ดังนี้

  • หาก ณ วันที่พี่เสียชีวิต เรายังมีหนี้บ้านและหนี้รถอยู่ ขอให้เธอนำเงินที่ได้นี้ไปปิดหนี้บ้านหนี้รถก่อน คงใช้เงินไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือถ้าหนี้ลดลงไปบ้างแล้ว อาจใช้เงินน้อยกว่านี้
  • กันเงิน 5 แสนบาท เก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกของเราในอนาคต ไม่ต้องนำไปลงทุนเสี่ยงอะไรมากมาย ขอแค่พักเก็บไว้ในกองทุนผสมความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ซึ่งพี่เคยลงทุนอยู่ และเคยเล่าให้ฟังก็พอ
  • เงินส่วนที่เหลือจาก 2 ส่วนแรก ขอให้เธอทยอยเก็บไว้ใช้ในช่วงปรับตัว อย่างน้อยๆ ควรจะมีเงินเหลือ 5 แสนบาท ซึ่งน่าจะพอให้เธอใช้ปรับตัวได้ 2-3 ปี ระหว่างนี้ พี่ขอให้เธอเข้มแข็ง ค่อยๆ ศึกษาหาช่องทางว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปยังไง เพราะเงินที่เตรียมไว้ให้นี้ คงไม่สามารถเลี้ยงดูเธอไปตลอดได้

เจตนารมณ์ข้างต้น เธออย่าถือเป็นคำสั่งเด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้นะ หากเธอคิดไตร่ตรองว่ามีวิธีการอื่นที่เหมาะสมมากกว่า ก็ขอให้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ แต่พี่อยากเตือนไว้ว่าในวันที่เธอได้รับเงินก้อนใหญ่นี้ อาจมีคนมากมาย มาชักชวนให้เธอนำเงินนี้ไปทำอะไร มันอาจดูดี ดูมีกำไรมาก แต่ก็ขอให้ระวังให้มากที่สุด “ไม่โลภ ก็ไม่เสีย”

วันหนึ่งคนเราต้องตายทุกคน ขอให้เธอใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทนะ

ด้วยรัก
สามี

ที่ร่ายยาวมาทั้งหมด ก็อยากชวนเขียนประมาณนี้แหละครับ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้ประกันชีวิตที่เราทำ “สมบูรณ์” ขึ้นอีกมาก และยังเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยและความรับผิดชอบเป็นครั้งสุดท้าย

ดังนั้น หากคิดว่าดี อย่ารอช้า หยิบกระดาษขึ้นมาเขียนเลยนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่า พรุ่งนี้ หรือชาติหน้า อะไรจะมาถึงก่อนครับ