ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมมี “แรงบันดาลใจเล็กๆ” ที่อาจจะดู ง่ายๆ โง่ๆ แต่มันก็สามารถ “ปลุก” ให้ผมลุกขึ้นมาทำสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยคิดทำมาก่อนในชีวิต

นั่นคือการเริ่มต้น “วางแผนการเงิน” ให้ตัวเองแบบมวยวัด (คือรู้เท่าไรก็ทำเท่านั้น) ด้วยการ เร่งหารายได้ และ ควบคุมรายจ่าย เพื่อเก็บเงินมาลงทุนสร้างฐานะ จนมีทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่สามารถเป็น “หลักประกัน” ให้ผมสามารถออกมาทำ A-Academy ได้ในทุกวันนี้ โดยไม่ต้องกดดันเรื่องเงิน

แรงบันดาลใจเล็กๆ นั้น คือตารางหน้าตาแบบนี้ครับ

วันนี้ต้องมีเท่าไร ? เพื่อให้มีเงินทุนเลี้ยงชีพในวัยเกษียณ = 10 ล้านบาท

ตารางข้างต้นนี้ เป็นตารางที่คำนวณตามหลัก “มูลค่าเงินตามเวลา” หรือ “ดอกเบี้ยทบต้น” เป็นการแสดงให้เห็นว่า หากเราอยากจะมีเงินทุนไว้ใช้เมื่อแก่ตัวหรือเมื่อ “เกษียณอายุ” จำนวน 10 ล้านบาท เราต้องมีเงินทุน ณ ปัจจุบันเท่าใด ? โดยสมมติให้เราสามารถนำเงินจำนวนนั้นไปลงทุนต่อยอดได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้บนหัวของแต่ละคอลัมน์

ตอนนั้นผมอายุประมาณ 20 กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 3 ผมนั่งอ่านตารางนี้อย่างใจจดจ่อ เพราะถ้าผมจะต้องเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็เท่ากับผมมีเวลา 40 ปีในการเตรียมการ ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ผมยังเรียนไม่จบ ต่อให้ทำงานพิเศษมีรายได้กิ๊กก๊อกเข้ามาเก็บ มันก็ไม่มาก

แต่ถ้าจากวันนี้ ผมเผื่อเวลาให้ตัวเองเก็บเงินไปก่อน สมมติว่าซัก 5 ปี ณ ตอนนั้นผมก็จะอายุประมาณ 25 และจะเหลือเวลาอีก 35 ปี ก่อนเกษียณ ซึ่งจากการอ่านค่าในตารางนี้ จะได้ความว่า…

หากผมอยากมีเงิน 10 ล้านตอนเกษียณ 60 ปี ผมต้องมีเงินเก็บ ณ อายุ 25 ปี เท่ากับ 676,345 บาท โดยต้องสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี แต่ถ้าลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่านั้น เงินที่ต้องใช้ก็จะน้อยลงมากๆ นั่นคือ…

ถ้าลงทุนได้ 10% จะใช้เงินเพียง 355,841 บาท
ถ้าลงทุนได้ 12% จะลดเหลือเพียง 189,395 บาท
และถ้าลงทุนได้ 14% จะยิ่งลดลงเหลือแค่ 101,937 บาท เท่านั้น!

ยังไม่ค่อยเชื่อแฮะ… ขอลองตรวจคำตอบดูสักหน่อย ลองเอาเงินสัก 2 แสนบาท มาบวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ทีละ 12% ทำไปซัก 35 ปี เงินจะถึง 10 ล้านจริงมั๊ย ?

สามารถใช้ App เครื่องคิดเลขการเงินคำนวณพิสูจน์ค่าดังกล่าวได้ คลิ๊กเรียนวิธีใช้ที่นี่

ปีที่ 1 : 200,000 + 12% = 224,000
ปีที่ 2 : 224,000 + 12% = 250,880
ปีที่ 3 : 250,880 + 12% = 280,986
ปีที่ 4 : 280,986 + 12% = 314,704
ปีที่ 5 : 314,704 + 12% = 352,468
.
.
.
ปีที่ 33 : 7,516,345 + 12% = 8,418,307
ปีที่ 34 : 8,418,307 + 12% = 9,428,503
ปีที่ 35 : 9,428,503 + 12% = 10,559,924

เฮ้ย… มันถึง 10 ล้านจริงๆ ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ใส่เงินเพิ่มไปเลย!


ผมไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ที่เห็นตารางนี้คิดเหมือนผมมั๊ย ? เพราะมันก็มีตั้งหลายคนที่เห็น แต่ ณ ตอนนั้นผมบอกเลยว่า “ทึ่ง” สุดๆ… นี่นะหรือที่เค้าเรียกว่า “มหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น

เพราะนั่นหมายถึง ผมก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะแยะอะไรในการเตรียมเกษียณ แค่เร่งเก็บเงินให้ได้สัก 2-3 แสนแรก แล้วก็หาวิธีลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยแถวๆ 12% ต่อปีบวกลบนิดหน่อยก็พอ (ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกครับว่า ต้องทำยังไง)


ทำไมถึงบอกว่า “คุณอาจมีเงินเกษียณ 10 ล้าน อยู่ในมือโดยไม่รู้ตัว”

ที่ผมตั้งชือบทความแบบนั้น… ก็เพราะอยากให้ทุกท่านได้ลองทบทวนตัวเองครับ ว่าทุกวันนี้เรามีทรัพย์สินต่างๆ ที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ คิดเป็นมูลค่าเท่าไร ?
เพราะแม้มูลค่าปัจจุบัน มันอาจจะไม่มาก แต่หากลองนำมาเทียบกับตารางที่ผมให้ไว้ข้างบนดู อาจจะพบว่า ทรัพย์สินที่เรามีวันนี้ ก็พร้อมจะเติบโตเป็นเงินใหญ่หลัก 10 ล้านบาทได้เหมือนกัน… ขอแค่เราจัดการมันให้ถูกต้องเหมาะสม

ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านใดอายุ 35 ปี แล้ววางแผนจะเกษียณเมื่ออายุ 60 นั่นคือ มีเวลาให้ลงทุนก่อนเกษียณทั้งสิ้น 25 ปี ตอนนี้ท่านมีทรัพย์สินที่พร้อมให้นำมาบริหารจัดการเท่าไร ? เพราะหากอ้างอิงจากตารางจะพบว่า ถ้าท่านมีทรัพย์สินประมาณ 9 แสนบาท หากนำมาบริหารจัดการให้เติบโตได้เฉลี่ย 10% ต่อปี ท่านก็สามารถ “ต่อยอด” ทรัพย์สินของท่านได้เป็นเงินถึง 10 ล้านบาทแล้วนะครับ!

หรือหากมีน้อยกว่านั้น เช่นมีประมาณ 5-6 แสนบาท ถ้ายังหวังให้เงินโตเป็น 10 ล้าน ก็อาจต้องพยายามศึกษาหาวิธีการที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาแถวๆ 12% ต่อปี ก็จะบรรลุเป้าเดียวกันได้เช่นกัน

คำถามคือ… ท่านมีทรัพย์สินให้บริหารจัดการอยู่เท่าไรครับ ?

สามารถประเมินได้จาก “งบดุลส่วนบุคคล” หรือ “Personal Balance Sheet” คลิ๊กเรียนวิธีทำที่นี่

แล้วถ้ายังไม่มีทรัพย์สิน… หรือมีน้อยล่ะ ?

แผนลงทุนเพื่อเกษียณอายุจริงๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องนำเงินก้อนมาลงทุนเสมอไปหรอกครับ

เรายังสามารถวางแผนเงินลงทุนวิธีอื่นๆ ได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการทยอยลงทุนรายเดือน การแบ่งเงินโบนัสรายปีมาลงทุน หรือจะทำทั้งสองแบบควบคู่กันก็ยิ่งดี ทำแล้วจะเพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ช่วงที่รายได้เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเร็วขึ้น

ทดลองวางแผนการลงทุนในรูปแบบต่างๆ สารพัดวิธี พร้อมไฟล์ Excel ช่วยคำนวณ คลิ๊กที่นี่

นอกจากนั้น หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่ง เพื่อให้เรามีเงินมาออมเพื่อสร้างทรัพย์สินเลี้ยงตัว ก็คือการ “บริหารรายรับ-รายจ่ายที่ดี” ซึ่งผมแนะนำให้ทำ Monthly Budget ประกบไปด้วย (ผมเองยังทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ)

เรียนวิธีการทำ Monthly Budget เพื่อบริหารรายรับรายจ่ายในอนาคต พร้อมไฟล์ Excel คลิ๊กที่นี่

พูดเหมือนง่ายนะ… ให้ลงทุนได้ 10 – 12% มันทำได้จริงรึเปล่า ?

ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ก็คงทำไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าศึกษา มันก็มีเครื่องมือ และเทคนิควิธีการมากมาย แนะนำให้ศึกษาจากวิดีโอของ A-Academy ตั้งแต่ Series ที่ 8 – 10 ดูนะครับ เรียนแล้วผมเชื่อว่าจะเห็นภาพวิธีการที่ชัดเจนขึ้นแน่นอน

Series 8 : การลงทุนผ่านกองทุนรวม (จำนวน 31 ตอน, ความยาว 12 ชั่วโมง)
Series 9 : กลยุทธ์การลงทุน (จำนวน 30 ตอน, ความยาว 13 ชั่วโมง)
Series 10 : ลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ (จำนวน 23 ตอน, ความยาว 8.5 ชั่วโมง)

บทเรียนทั้งหมดสามารถเรียนได้ฟรีบน YouTube หรือถ้าไม่สะดวกเรียนออนไลน์ มีแผ่น DVD การกุศลสำหรับไว้ดูแบบ Offline จำหน่าย ที่นี่ ครับ

4 COMMENTS

  1. ขอบคุณมากนะคะสำหรับความตั้งใจในการแบ่งปันความรู้สู่สังคม คนแบบคุณเป็นหนึ่งในคนที่ทำห้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่มอบให้กันค่ะ

  2. It was my contentment getting to your site recently. I got here now hoping to find out interesting things. And I was not frustrated. Your ideas on new techniques on this subject matter were helpful and a wonderful help to me and my spouse. Thank you for leaving out time to write out these things plus for sharing your thoughts.

  3. Funny, I was just saying last week that. In any case, Scala is awesome. Not only does it sport a full complement of modern OO and FP features, the features all go together cohesively. In the end, it is this cohesion that will give Scala staying power.

  4. ไม่รู้จะขอบคุณยังไดีค่ะพี่ เพื่อเป็นการตอบแทน ขอตั้งหน้าตั้งตา เรียนรู้ ลงมือทำ เมื่อสำเร็จแล้วจะส่งต่อให้คนอื่นๆอีก ต่อไปค่ะ

Leave a Reply to http://privatkredit.pw/ Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here